‘ภูมิใจไทย’เขต 14 นครราชสีมาชูนโยบายปลูกกัญชาเสรีขายราคาดี-เข้มกม.คุมผู้เสพ

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตำบลหนองหัวฟาน อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา นายไพศาล เกียรติชัยพัฒน์ ผู้สมัครส.ส.นครราชสีมา เขต 14 ลงพื้นที่พบปะกับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ศาลาประชาคมบ้านหนองหัวฟาน วัดโนนมะเกลือและวัดบ้านโจด ร่วมกับนายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ อดีต ส.ส.นครราชสีมา เจ้าของพื้นที่เดิมโดยในครั้งนี้ลงสมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ โดยได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ยังได้มีการตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนนโยบายการปลูกกัญชาเสรีที่พรรคภูมิใจไทยนำเสนอชูเป็นนโยบายหลักอยู่ในขณะนี้

นายไพศาล กล่าวว่า หลังจากที่ได้ลงพื้นที่นำเสนอนโยบายของพรรคทุกวัน คนในพื้นที่ให้การตอบรับนโยบายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องใหม่ นโยบายปลูกกัญชาเสรีซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศชาติ ประชาชนเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าไม่ใช่เรื่องของสารเสพติด แต่เป็นเรื่องของการใช้การรักษาพยาบาลทางการแพทย์ได้ รักษามะเร็งได้ รวมถึงสามารถใช้ในการประกอบอาหารได้ ผลการศึกษาวิจัยพบว่า กัญชา 1 ต้น สามารถนำดอกมาสกัดได้ตัวยา 1 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 7 หมื่นบาท นับเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะช่วยประเทศชาติได้อย่างมหาศาล มากกว่าที่จะนำมาเสพเป็นยาเสพติดเพียงอย่างเดียวซึ่งต่อไปก็ต้องมีกฎหมายควบคุมเช่นเดียวกับเหล้า บุหรี่และสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอื่นๆ

และนอกจากนี้พรรคภูมิใจไทยยังได้นำเสนอนโยบายหลักในการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชนอีก 6 ประการ กล่าวคือ การแก้หนี้ กยศ. ลดข้อจำกัดลงให้ผู้กู้สามารถนำเงินมาคืนได้ การเรียนออนไลน์ฟรีพร้อมยกระดับอาชีพต่างๆ เข้าสู่ยุคดิจิตอล 4.0 รองรับการซื้อขายออนไลน์ การยกระดับ อ.ส.ม. ให้เป็นหมออาสาประจำหมู่บ้านเพื่อดูแลผู้ป่วยในเบื้องต้นลดภาระโรงพยาบาล

การทวงคืนกำไรให้กับชาวนาโดยการตั้งกองทุนข้าวเพื่อให้ชาวนากู้เงินปลอดดอกเบี้ยไปลงทุนทำนา เมื่อขายข้าวได้กำไรหลังหักเงินกู้ยืมก็จะมีกำไรส่วนหนึ่งแบ่งปันให้ชาวนา รวมถึงการทวงคืนกำไรให้เกษตรกรพืชไร่เศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ซึ่งจะกระทำในลักษณะเดียวกันกับข้าวเปลือก กัญชาไทยปลูกได้เสรีเพื่อใช้ทางการแพทย์และส่งออก โดยการแก้ พ.ร.บ.ยาเสพติด ซึ่งต่อไปจะเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่สร้างความร่ำรวยให้กับประเทศไทย และสุดท้ายคือการสร้างบุรีรัมย์โมเดล นำความสำเร็จของการสร้างจังหวัดบุรีรัมย์จากผืนดินที่มีเพียงความแห้งแล้งให้กลับกลายเป็นสถานที่สร้างรายได้ปีละนับหมื่นล้านบาทกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ของจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งได้พิสูจน์มาแล้วว่าสามารถทำได้ประสบความสำเร็จ

มติชนออนไลน์