สนช.ผ่านวาระ 3 กม.ปฐมวัย ไม่ห้ามสอบ ‘อนุบาล-ป.1’ โยนบอร์ดชุดนายกฯ กำหนดเกณฑ์

ดารณี อุทัยรัตนกิจ

สนช.ผ่านวาระ 3 กม.ปฐมวัย ไม่ห้ามสอบ ‘อนุบาล-ป.1’ โยนบอร์ดชุดนายกฯ ผุดเกณฑ์ ด้าน ‘หมอธี’ ไม่ฟันธงเกณฑ์รับน.ร.ปี 62 สกัด ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ นักวิชาการ ชี้ ม.3 ขึ้นม.4 อัตโนมัติ กระทบนโยบายประเทศ หวั่นเด็กตั้งใจเรียนลดลง ออกกลางคันเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นางดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ในฐานะรองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ…. ในวาระ 2 และ 3 ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 160 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง จากนี้จะต้องรอการประกาศราชกิจจานุเบกษาก่อนมีผลยังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป สำหรับสาระสำคัญของร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากสนช. มีการปรับแก้ประเด็นสำคัญ ดังนี้ นิยามของเด็กปฐมวัย เดิมกำหนดให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยครอบคลุมตั้งแต่ช่วงก่อนคลอด หรือทารกในครรภ์มารดา จนถึงช่วงอายุ 6-8 ปี หรือช่วงวัยรอยต่อระหว่างวัยอนุบาลกับวัยประถมศึกษาปีที่ 1-2 เป็น ให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยครอบคลุมตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงอายุต่ำกว่า 6 ปี ทั้งนี้ให้หมายความถึงเด็กที่ต้องได้รับการพัฒนาก่อนประถมศึกษา เช่น เด็กที่อายุเกิน 6 ขวบขึ้นไป แต่ไม่ได้เข้าเรียนระดับอนุบาล หากมีความประสงค์เข้าเรียนก็ต้องได้รับการดูแล เป็นต้น ขณะเดียวกันยังตัดเรื่องระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่ช่วงทารกในครรภ์มารดาออก เพราะเด็กที่อยู่ในครรภ์ยังไม่มีสถานะเป็นบุคคล จึงยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ได้ไปกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ให้ดูแลทางด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์แทน

นางดารณี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังปรับแก้ในส่วนที่กำหนดไม่ให้มีการสอบเข้าเรียนอนุบาลและชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท โดยเรื่องนี้ไม่ผ่านตั้งแต่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะหากกำหนดให้เป็นโทษอาญา จะไม่สามาปรับเป็นเงินได้ อีกทั้ง ยังไม่สามารถนิยามคำว่าการสอบได้ชัดเจน เช่น การให้เด็กผูกเชือกรองเท้า หมายถึงการสอบเข้าอนุบาลหรือป.1 หรือไม่ จึงอาจส่งผลเรื่องการตีความในอนาคต ดังนั้นสนช. จึงเห็นชอบให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ในการรับเด็กเข้าเรียนในชั้นอนุบาลและป.1 ทั้งนี้ต้องไม่มีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

“เรื่องการสอบหรือไม่สอบเข้าเรียนอนุบาล หรือ ป.1 ดิฉันเห็นว่า เราควรมีความเชื่อมั่นในคณะกรรมการนโยบายฯ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคนว่าจะพิจารณาการรับเด็กเข้าเรียนด้วยความเหมาะสม อย่างไรก็ตามการสอบหรือไม่สอบเข้าเรียนอนุบาล หรือป.1 ยังไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของพ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่เป็นประเด็นที่ต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองและสังคม ซึ่งเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายฯ จะต้องมีแนวทางที่เหมาะสม เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ” นางดารณีกล่าว

นางดารณี กล่าวต่อว่า ที่ประชุมสนช. ยังปรับแก้การกำหนด สถานะสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเดิมกำหนดให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการ แต่การกำหนดดังกล่าว ไม่ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นการขัดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ไม่ให้มีการตั้งหน่วยงานใหม่ ดังนั้นจึงเห็นชอบให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ สกศ. เองก็จะต้องไปจัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยขึ้น เพื่อขับเคลื่อนงานต่อไป ทั้งนี้สกศ.ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รอเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ซึ่งยังต้องรอดูว่า สุดท้ายแล้วสกศ. จะยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือปรับไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี

ด้านนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) มีมติแก้ไขประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2562 ให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ โดยกพฐ.มีมติให้ยกเลิกเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ 7 ประเภท เหลือ 4 ประเภท และกำหนดให้โรงเรียนต้องรับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 จากโรงเรียนเดิมเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ทุกคนนั้น ว่า ขณะนี้ สพฐ.ยังไม่ได้ส่งประกาศ สพฐ. เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2562 ให้ตนลงนาม แต่ตนรู้ว่า กพฐ.มีการประชุมและพยายามทำตามข้อเสนอ ป.ป.ช. ส่วนมาตรการที่ให้นักเรียนม.3 เรียนต่อชั้นม.4 ในโรงเรียนเดียวกันนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการเพิ่มสิทธิ ทำให้คนได้สิทธิมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนคนมองว่าหากไม่ได้เรียนต่อม.3 ก็เหมือนถูกไล่ออกจากโรงเรียนตัวเอง

“ส่วนการยกเลิกเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ 7 ประเภท เหลือ 4 ประเภท จะสกัดปัญหาแป๊ะเจี๊ยะได้แน่นอนหรือไม่นั้น คำว่าแน่นอนคงใช้ไม่ได้ในยุคนี้ แต่จะสกัดได้มากเหมือนที่ผ่านมา ไม่ต้องห่วงมีหลายหน่วยงานช่วยตรวจสอบ อย่างปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.เข้ามาช่วยตรวจสอบเอง เพราะฉะนั้นถ้าข้างล่างหรือระดับพื้นที่กล้าทำ ก็ไปตอบกับ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ตำรวจ และประชาชนเอง ส่วนประเด็นที่มองว่าการตัดเงื่อนไขพิเศษบางข้อส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ขอให้ไปถาม กพฐ. ผมไม่สามารถตอบได้ แต่ทุกอย่างต้องสะท้อนความเป็นจริง การช่วยทำคุณประโยชน์ ทำต่อเนื่องยาวนาน ไม่ใช่มาช่วยเพียงแป๊บเดียว แล้วเป็นผู้ทำคุณประโยชน์คงไม่ได้ และนโยบายผมชัดเจนคือ ทำทุกอย่างให้เป็นธรรม ส่วนที่มีข้อเสนอให้ผู้อำนวยการโรงเรียนยื่นบัญชีทรัพย์สินเพื่อป้องกันปัญหาแป๊ะเจี๊ยะ ผมไม่มีความเห็น แต่คนที่มีหน้าที่จะบอกว่าใครมีหน้าที่ยื่นทรัพย์สินคือ ป.ป.ช.ไม่ใช่หน้าที่รัฐมนตรี ผมไม่กล้าคิดเพราะไม่ใช่หน้าที่ผม ผมตอบไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้มิติมันลึกซึ้งขึ้นกับการบริหาร และกฎหมายต่างๆ เกี่ยวข้อง” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

ด้าน นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดในประกาศรับนักเรียนให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กพฐ. คาดว่า 1-2 วัน จะแล้วเสร็จ จากนั้นจะเสนอ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ลงนามในประกาศต่อไป

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เกณฑ์การรับนักเรียนที่เปลี่ยนให้รับชั้น ม.3 จากโรงเรียนเดิม เข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ทุกคน มองในแง่ดีกระบวนการแป๊ะเจี๊ยะลดลง นักเรียนไม่ต้องสุ่มเสี่ยงหาที่เรียนใหม่ สามารถเรียนในโรงเรียนที่ตัวเองคุ้นเคย แต่จะมีข้อเสียคือ นักเรียนตั้งใจเรียนลดลง เพราะปัจจุบันพบว่านักเรียนในระดับชั้น ม.1-3 ตั้งใจเรียนน้อยลง นักเรียนลาออกกลางคันมากขึ้น ไม่รู้จักศักยภาพตนเอง ไม่รู้ความต้องการของตนเองว่าต้องการเรียนอะไร ถนัดด้านไหน

“ส่วนที่กระทบอีกทางหนึ่งคือ หลักเกณฑ์นี้กระทบกับนโยบายของประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพราะตอนนี้ค่านิยมเปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลมีนโยบายต้องการให้เด็กเข้าเรียนอาชีวะเพิ่มมากขึ้น เรียนมัธยมน้อยลง ถือเป็นการออกหลักเกณฑ์ที่ไม่ระมัดระวัง ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรจะมีการปรึกษาหารือในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าหากจะออกมาตรการนี้ จะมีผลกระทบต่อนโยบายของแท่งอื่นใน ศธ.หรือกระทบต่อนโยบายนของประเทศหรือไม่” นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ ต่อว่า ส่วนการยกเลิกเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ 7 ประเภท เหลือ 4 ประเภท จะช่วยแก้ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะหรือไม่ ตนมองว่าแก้ได้ชั่วคราว ปัญหานี้อาจจะหายไป 1-2 ปี แต่จะกลับมารุนแรงมากขึ้น เพราะปัญหายังคงมีอยู่ และไม่ได้รับการแก้ไขคือ 1. เรื่องความเหลื่อมล้ำ ยังไม่ได้แก้ไข และถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันอย่างจริงจังว่าควรจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร คุณภาพโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนชนบทที่แตกต่างกัน 2.ระบบอุปถัมภ์ เมื่อมีนักการเมืองเข้ามารัฐมนตรีว่าการศธ. การฝากเด็ก เด็กในโควตาจะกลับมาแน่นอน และ3.ค่านิยมของผู้ปกครองที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป ที่โรงเรียนเด่นดังพัฒนาก้าวหน้า แต่ในขณะที่โรงเรียนกว่า 20,000 แห่งมีคุณภาพแย่ลง งบประมาณ อุปกรณ์การเรียน ครูผู้สอน มีความแตกต่างกัน ผู้ปกครองคงไม่ต้องการที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนขนาดกลางหรือเล็กแน่นอน มุ่งไปหาแต่โรงเรียนขนาดใหญ่แทน

“เรื่องนี้เป็นการออกมาตรการปีต่อปีเท่านั้น สงบครั้งคราวและจะกลับมาเป็นปัญหาอีก ทางแก้ที่ ป.ป.ช.เสนอ ไม่ได้เสนอให้แค่ สพฐ.เท่านั้น ยังเสนอให้รัฐบาลและศธ.อีกด้วยว่าควรรับผิดชอบอะไร ปรับแก้ไขอะไร แต่ขณะนี้กลับพบว่า สพฐ.เป็นฝ่ายเดียวที่ปฏิบัติตามข้อเสนอของ ป.ป.ช.เท่านั้น ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามด้วยถึงจะแก้ไขปัญหาได้ ผมมองว่าควรยกเลิกเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ 7 ประเภทไปเลย หากโรงเรียนไหนต้องรับเกณฑ์พิเศษก็ให้โรงเรียนออกเกณฑ์การบริหารเอง ที่อธิบายและสามารถตรวจสอบได้ ไม่ควรเอามาเป็นเกณฑ์ที่เป็นแนวปฏิบัติให้โรงเรียนทั่วประเทศ” นายสมพงษ์ กล่าว

มติชนออนไลน์