‘อัยการธนกฤต’ ยก ม.14 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ชี้ช่องทางออก กกต. กรณีเสนอชื่อ เสมือนโมฆะ

‘อัยการธนกฤต’ยก ม.14 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ชี้ช่องทางออก กกต. กรณีเสนอชื่อคุณลักษณะต้องห้ามให้ถือว่าไม่เคยมีการเสนอชื่อ เสมือนโมฆะ

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดได้โพสเฟซบุ๊ก เเสดงความเห็นข้อกฎหมายมีข้อความว่า “ทางออกของ กกต.” ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

ตามที่พรรคไทยรักษาชาติได้เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค ต่อ กกต. เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วต่อมาได้มีประกาศพระราชโองการ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์อยู่ในหลักการการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ มีเรื่องที่ควรนำมาพิจารณาว่า กกต. ควรจะต้องดำเนินการต่อการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ ฯ ในครั้งนี้อย่างไร ผมขอให้ความเห็นทางวิชาการที่จะเสนอมุมมองทางกฎหมายต่อเรื่องนี้ แต่ขอเรียนแจ้งให้ทราบก่อนว่าเป็นการเสนอความคิดเห็นส่วนตัวทางวิชาการด้วยความเป็นกลาง โดยไม่มีเจตนาและวัตถุประสงค์ที่จะเข้าข้างและสนับสนุนฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดทั้งสิ้น

ถึงแม้ตาม พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 13 วรรคสอง การถอนรายชื่อของบุคคลที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะกระทำได้เฉพาะกรณีที่บุคคลนั้นตายหรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม และที่สำคัญถ้าจะมีการถอนรายชื่อต้องกระทำก่อนการปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และ กกต. ได้ปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ตาม

แต่ตาม พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้การเสนอรายชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และตามมาตรา 14 วรรคสอง บัญญัติให้การเสนอชื่อบุคคลใดที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น

ดังนั้น จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงสรุปได้ดังนี้

1. กกต. มีอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 14 ที่จะตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอ ว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ถึงแม้ว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 จะไม่ได้บัญญัติให้อำนาจ กกต. ในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจนก็ตาม เนื่องจากตามมาตรา 14 กำหนดให้การเสนอรายชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กกต. จึงย่อมต้องมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบนี้ ตาม พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องกระทำให้เสร็จสิ้นก่อนการปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เพราะไม่ใช่เรื่องการถอนรายชื่อบุคคลที่พรรคเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีที่จะต้องกระทำให้แล้วเสร็จก่อนการปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง

2. เมื่อ กกต. ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอแล้วปรากฏว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นไปตาม พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 14 วรรคสอง ที่ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ในกรณีของการเสนอพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่พระบรมราชวงศ์ดำรงอยู่เหนือการเมืองและมีความเป็นกลางทางการเมือง และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ จึงย่อมต้องถือว่าเป็นการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และตามมาตรา 14 วรรคสองดังกล่าว จึงถือว่าไม่มีการเสนอพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยพรรคไทยรักษาชาติ เปรียบทำนองเดียวกับถือว่าการเสนอพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ โดยพรรคไทยรักษาชาติ เป็นโมฆะ ไม่มีผลตามกฎหมาย

3. เมื่อตามมาตรา 14 วรรคสองดังกล่าว ถือว่าไม่มีการเสนอพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยพรรคไทยรักษาชาติ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีการถอนพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ จากรายชื่อนายกรัฐมนตรี โดยพรรคไทยรักษาชาติหรือโดยทูลกระหม่อมหญิง แต่อย่างใด และจึงไม่มีประเด็นปัญหาให้ต้องมาพิจารณาว่า หลังปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ไปแล้ว จะถอนรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่