จี้พรรคการเมือง ‘ชูนโยบายอาหาร’ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านอาหาร คือ มีความสามารถและศักยภาพในการผลิต เพื่อบริโภคภายในประเทศและส่งออกอย่างต่อเนื่อง มีฐานทรัพยากรการผลิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมด้านการเกษตรและอาหารมายาวนาน มีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ สามารถพึ่งพาตนเองได้อยู่ในเกณฑ์ดี ในด้านโอกาส มีศักยภาพทางการตลาดสูงทั้งตลาดเดิมและตลาดใหม่ ที่ตั้งของประเทศเอื้ออำนวยต่อการผลิต การค้า และการท่องเที่ยว แต่ยังมีจุดอ่อนและภัยคุกคามคือ เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยขาดการรวมกลุ่มที่เข็มแข็งและยั่งยืนทั้งยังขาดความรู้ ข้อมูลและเทคโนโลยีในการผลิต การแปรรูป การตลาด และบริการที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพสูง ขาดแรงงานในภาคการเกษตรและเกษตรกรมีแนวโน้มอายุมากขึ้น


นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนมองว่าอาหาร สามารถพัฒนาประเทศในด้านต่างๆได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นพรรคการเมืองใด ที่ออกมาชูนโยบายนี้ เพราะการชูนโยบายด้านอาหาร จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งผู้ผลิต คือเกษตรกร ผู้แปรรูป ผู้ค้าขาย ผู้ซื้อจะได้รับประโยชน์หากมีการสนับสนุนอย่างแท้จริง นอกจากนี้อาหาร ยังสามารถขยายเติบโตในด้านอื่นๆ เช่นด้านวัฒนธรรม ด้านการท่องเที่ยว สามารถขยายผล สร้างอาชีพให้ผู้คนได้มากกว่านโยบายที่เน้นประชานิยมมาก จึงอยากให้ทุกพรรคการเมืองในประเทศหันมาสนใจประเด็นนี้ โดยใช้อาหารเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาประเทศ
“ทำไมต้องใช้อาหารเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา คือ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนแก้ไขปัญหาความยากจน แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานราก เพราะอาหารทุกคนต้องกินทุกวัน คนไทยเกิน 70 ล้านคน กินอาหารเฉลี่ยนคนละ 100 บาท คิดเป็นต่อคนต่อวันเป็นเงิน 7 พันล้านบาท ถ้าต่อเดือนคือ 2.1 แสนล้านบาท เป็นเรื่องชัดเจนมากว่าคือเรื่องของเศรษฐกิจ แต่จะเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมและเสมอภาคของรายได้และโอกาส อาหารยังเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมสังคมและการท่องเที่ยว จะเห็นว่าถ้าดูแลเรื่องอาหารการกินให้ดี ให้เป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรม เชื่อมโยงกับการค้า เชื่อมโยงการท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนฐานรากด้วย

อีกทั้งอาหารยังเกี่ยวข้องกับโภชนาการ คนไทยสามารถเข้าถึงบริโภคอาหารที่มีคุณภาพอาหารเหมาะสม พอเพียงเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย จนมีภาวะโภชนาการดี สุขภาพดี ถ้าใช้อาหารเป็นศูนย์กลางและมาเน้นให้คนบริโภคพอเพียง ถูกหลักโภชนาการ จะทำให้คนไทยมีคุรภาพชีวติที่ดี ถ้าเราดูแลระบบอาหารให้ดี โดยเชื่อมกับระบบการผลิตโดยเฉพาะดูแลฐานทรัพยากรผลิตอาหาร ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา ซึ่งเรื่องอาหารประเทศไทยมีความเข้มแข็งมาก แต่เราเหมือนละเลย อาจจะมองว่าอาหารการกินเป็นเรื่องธรรมดา เรามีความอุดมสมบูรณ์จนลืมคิดถึงเรื่องนี้ไป ซึ่งต่อไปอาจจะทำให้เราไม่ยั่งยืนในเรื่องของฐานทรัพยากรการผลิต เพราะมีการตัดไม้ทำลายป่า การบริหารจัดการอ่อนแอ เป็นเหตุผลที่พรรคการเมืองต่างๆ ควรกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานสำคัญ ควรจะใส่ใจเรื่องนี้ เพื่อให้ประเทศได้พัฒนาต่อไปได้ในอนาคต” นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าว