เที่ยวไทยรายได้เบอร์ 4 ของโลก / ธอส.เล็งออกสลาก 5 หมื่นล้าน / แนะเทคนิคจับผิดฟิชชิ่งล้วงข้อมูล

แฟ้มข่าว

เที่ยวไทยรายได้เบอร์ 4 ของโลก

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2561 มียอดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาไทย 38.27 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ 2.01 ล้านล้านบาท ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยมีจำนวน 226.08 ล้านคนต่อครั้ง สร้างรายได้ 1.06 ล้านล้านบาท หรือรายได้รวมกว่า 3.07 ล้านล้านบาท ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด จนปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 ของโลก ทั้งนี้ ยอดนักท่องเที่ยวและรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ตามพันธกิจของหน่วยงานที่เกี่ยว และได้ใช้การท่องเที่ยวแบบวิถีไทย ส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวปี 2562 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 41.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.5% สร้างรายได้ 2.21 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10% โดยแนวโน้มรายสัญชาติ คาดการณ์นักท่องเที่ยวจากจีนมากสุดที่ 11.69 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 11% รองลงมาคือ ประเทศในอาเซียนจำนวน 11.31 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% และจากยุโรป 6.90 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2%

ลุ้นฟันด์โฟลว์ไหลกลับแสนล้าน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) เริ่มไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ช่วงปลายปี 2561 แต่ไทยยังมีปัญหาเรื่องการเลือกตั้งไม่ชัดเจน ทำให้การเข้ามาลงทุนชะลออยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความชัดเจนจึงเริ่มเห็นสัญญาณเงินไหลเข้า และเชื่อว่าจากนี้ไป โดยเฉพาะในช่วงหลังเลือกตั้งเงินต่างชาติจะไหลเข้ามา ประเมินนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1 แสนล้านบาท ตลาดหุ้นจึงน่าจะคึกคักในช่วงนี้ และยังมองเป้าหมายดัชนีหุ้น 1,800 จุด ทั้งนี้ จากผลการสำรวจหลายแห่งประเมินว่าช่วงก่อนเลือกตั้งจะมีเงินสะพัด ซึ่งทางเฟทโก้ประเมินว่าจะมีเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 5 หมื่นล้านบาท จากการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองซึ่งจะส่งผลดีกับตลาดหุ้นด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องที่นักลงทุนกังวลมากที่สุด คือ รัฐบาลใหม่ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเก่าหรือรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาหลังการเลือกตั้ง แต่ขอให้มีนโยบายที่สร้างความเชื่อมั่นและทำจริงตามที่พูดมา

แบงก์ชาติคุมรถแลกเงินเริ่ม ก.พ.นี้

นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะออกเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่มีทะเบียนเป็นประกัน (สินเชื่อรถแลกเงิน) เพราะยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลชัดเจน และมีข้อร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากเรื่องการคิดดอกเบี้ยแพงเกินไป แนวทางปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ซึ่งขณะนี้รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะประกาศในสิ้นเดือนมกราคมนี้ และบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจอยู่มากกว่า 1,000 รายทั่วประเทศ มียอดสินเชื่อคงค้างในระบบมากกว่าแสนล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคลให้แจ้ง ธปท.ภายใน 60 วันเพื่อดำเนินธุรกิจต่อได้ กรณีผู้ประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาต ต้องมาขอใบอนุญาตภายใน 60 วันหลังเกณฑ์บังคับใช้แล้ว กรณีให้บริการสินเชื่อทั่วประเทศ ต้องขออนุญาตจาก ธปท. ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 28% ต่อปี กรณีบริการเฉพาะจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งต้องขอใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์ ให้สินเชื่อรวมต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี กรณีขายทอดตลาด ต้องคืนเงินส่วนต่างที่เหลือให้ผู้กู้อย่างเหมาะสม ห้ามคิดค่าจ่ายคืนก่อนกำหนด กรณีไถ่ถอนก่อนกำหนดทั้งจำนวนหรือบางส่วน ห้ามคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับบนดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียม กรณีคิดค่าติดตามทวงหนี้ และอื่นๆ ไม่เกิน 200 บาทต่อครั้ง เป็นต้น

ธอส.เล็งออกสลาก 5 หมื่นล้าน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ขณะนี้อยู่ในกระบวนการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ ซึ่งทำให้ธนาคารสามารถจำหน่ายสลากออมทรัพย์ ธอส. เพื่อเพิ่มสัดส่วนของเงินฝากระยะยาวให้สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อ เพิ่มอำนาจการออกพันธบัตรให้เป็นของคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการออกพันธบัตร และรองรับการให้สินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุในรูปแบบรีเวิร์ส มอร์ทเกจ ทั้งนี้ ธอส.เตรียมออกสลากออมทรัพย์งวดแรก 5 หมื่นล้านบาท อายุ 3 ปี และ 5 ปี หาก พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ภายในไตรมาสแรกปีนี้ น่าจะเปิดขายสลากได้ภายในเดือนสิงหาคม ราคาหน่วยละ 100 บาท 500 บาท รวมถึงมีแนวคิดออกสลากอายุ 10 ปีใบละ 1 ล้านบาท เป็นสลากพรีเมียมเพื่อเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน สำหรับรางวัลสลากมีข้อเสนอทั้งการให้รางวัลแบบกระจาย หรือจะให้รางวัลที่ 1 สูงๆ เช่น เป็นเงิน 20 ล้านบาท ออกรางวัลเดือนละ 1 ครั้งพร้อมกับการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยรางวัลสลากน่าจะเป็นเงินสด ซึ่งจะจูงใจกว่ารางวัลเป็นบ้าน รถ หรือคอนโดมิเนียม รวมถึงจะให้นำสลากออมทรัพย์ของ ธอส.ลดดอกเบี้ยกู้บ้านด้วย

แนะเทคนิคจับผิดฟิชชิ่งล้วงข้อมูล

นายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (ทีบี-เซิร์ต) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภัยรูปแบบการหลอกลวงประชาชนของกลุ่มมิจฉาชีพมักจะใช้รูปแบบโซเชียลเอ็นจิเนียริ่ง หรือการหลอกลวงประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลที่ใช้สำหรับทำธุรกรรมการเงิน ซึ่งพบว่าภัยทางไซเบอร์ เช่น การหลอกลวงข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต หรือฟิชชิ่ง (Phishing) ที่อาศัยชื่อของหน่วยงานหรือบุคคลเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ มิจฉาชีพมักจะใช้ความกลัวและความโลภมาเป็นจุดดึงดูดเพื่อที่จะฟิชชิ่งข้อมูล โดยกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะถูกหลอกลวงข้อมูลได้ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่อาจจะยังไม่เข้าใจการใช้งานทางดิจิตอลมากนัก กลุ่มเด็กที่เริ่มใช้งานดิจิตอลไม่ทันระวัง ขณะที่กลุ่มผู้ใช้งาน 18-30 ปี ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน เพราะทุกคนมีความเสี่ยงที่อาจจะถูกหลอกลวงข้อมูลได้

สำหรับวิธีการสังเกตว่าเป็นฟิชชิ่งเว็บไซต์ หรือฟิชชิ่งเมล คือ ข้อความในอีเมลมีคำสะกดผิด ภาษาแปลก ผิดหลักไวยากรณ์ มีลักษณะที่โน้มน้าวแจ้งเตือนแบบเร่งด่วน มีลิงก์ส่งมาในอีเมลโดยเป็นลิงก์ที่ไม่ใช่เว็บไซต์ที่ต้องการจะใช้งาน แอบอ้างใช้ชื่อหน่วยงานหรือชื่อบุคคลเป็นที่รู้จักเป็นผู้ส่งอีเมล