เปิดตัว “Intelligenzia” 7 นศ.ผุดวารสารการเมือง หวังสานต่อสังคมศาสตร์ปริทัศน์ยุค 14 ตุลา

มื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 มกราคม ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเสวนาเปิดตัววารสาร INTELLIGENZIA (อินเทลิเจนเซีย) ฉบับปฐมฤกษ์ ในช่วงแรกเป็นการเปิดตัวทีมงานซึ่งเป็นนักศึกษาคณะวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยรามคำแหง

นายสุรัตน์ สกุลคู นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง บรรณาธิการนิตยสารอินเทลิเจนเซีย กล่าวว่า วารสารนี้จัดทำโดยนักศึกษาในทุกขั้นตอน ระดมทุนจากนักศึกษาซึ่งเป็นทีมงานรวม 7 คน มีเนื้อหาหลักครอบคลุม 3 ส่วน ได้แก่ รัฐศาสตร์-การเมือง, เศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์ มีเจตนารมณ์เพื่อสืบสานอุดมการณ์วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งมีบทบาทมากในยุค 14 ตุลา จำหน่ายผ่านเพจ วารสาร Intelligenzia ราคา 200 บาท

“ตอนนี้สังคมไทยอับเฉาทางปัญญามาก วารสารนี้เกิดจากผมและเพื่อนๆ คิดว่าเราน่าจะทำวารสารให้เป็นพื้นที่สำหรับเสรีภาพทางความคิดให้นักศึกษา นักวิชาการได้เผยแพร่ในบริบทการเมืองปัจจุบัน ซึ่งต้องขอขอบคุณนักวิชาการหลายท่านที่ช่วยเขียนบทความส่งมาให้ อย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เราดึงคนเขียนดีๆ มา ไม่จำเป็นต้องเว่อร์วัง แต่ให้คนอ่านรู้เเรื่อง ไม่ใช่หอคอยงาช้าง นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาที่ทำสารนิพนธ์ในการเผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์ต่อสังคม ก่อนหน้านี้มีการเปิดให้พรีออเดอร์ ซึ่งรู้สึกดีใจมากที่คนสั่งซื้อส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา” นายสุรัตน์กล่าว พร้อมปิดท้ายด้วยการอ่านบทกวีโดย “วิสา คัญทัพ” ซึ่งตีพิมพ์บนปกหลังของวารสารดังกล่าวฉบับปฐมฤกษ์ โดยระบุว่า ในที่นี้ขอฝากบทกวีดังกล่าวถึงสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

นายจักรพล ผลละออ หนึ่งในทีมงาน โดยรับหน้าที่พิสูจน์อักษร กล่าวว่า นี่คือการกลับมาของวารสารฝ่ายซ้ายภายใต้รัฐบาลเผด็จการ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมีปัญหานิดหน่อยกับคำว่าฝ่ายซ้าย เพราะปัจจุบันคำนี้ถูกใช้ในความหมายที่ไม่ใช่แบบสากล กล่าวคือ ใช้เรียกเหมากับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการหรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายขวา จึงไม่กล้าฟันธงว่าเป็นวารสารฝ่ายซ้ายจริงๆ

“ถ้าเทียบประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์ยุคในช่วงปี 16-19 ภายใต้การดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. มีวารสารในอดีตที่ซ้ายแบบซ้ายจริงๆ แต่ปัจจุบันในสังคมไทยยังอิหลักอิเหลื่อ ไม่แน่ใจว่าวารสารนี้ซ้ายไหม แต่เฉพาะหน้าวันนี้ขอให้เชื่อไปก่อนในความหมายว่ามันไม่ขวา ในแง่หนึ่งน่ายินดี หลายท่านคงรู้สึกเหมือนกัน เราลงมือทำด้วยตัวเองทุกกระบวนการ ในแง่หนึ่งดูนิ่งใหญ่เป็นหมุดหมายสำคัญ ก่อนหน้าจริงๆ ก็มีวารสารหัวก้าวหน้าที่ถูกทำโดยเยาวชน อย่งน้อยคืองานของเนติวิทย์ ปัญหาของนักศึกษาในการทำวารสารคือความต่อเนื่องของงาน จะทำอย่างไรให้อยู่ต่อไปเรื่อยๆ”

นายศุภณัฐ กิ่งแก้ว นักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์วารสาร กล่าวถึงการออกแบบหน้าปกซึ่งสื่อความหมายลึกซึ้ง กล่าวคือ รูปช้าง เป็นตัวแทน “กลุ่มทุน” ไทย รูปคนกลับหัวใช้ลิ้นค้ำยันช้าง หมายถึง การถูกกลุ่มทุนขูดรีด กดทับ ทำงานได้พอเลี้ยงปากท้องเท่านั้น และหากลองกลับหัว จะพบว่าภาพดังกล่าวช้างจะเดินไปข้างหน้า ในขณะที่คนเดินถอยหลัง ยากจน ลำบากมากขึ้น มีชนชั้นกลางที่ลอยตัวเหนือความขัดแย้ง นอกจากนี้ยังมีรูปรัฐธรรมนูญขนาดเล็กจนผู้อ่านอาจไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เหมือนไม่มีค่าในสังคมนี้ ในขณะที่ ทะเลทราย หมายถึงศาสนาอื่นๆ ในสังคมไทยที่ถูกกีดกัน

นายชัยรัชต์ ลิ้มเจริญ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ทีมงาน กล่าวว่า วารสารนี้เผยแพร่ผลงานวิชาการและผลงานกึ่งวิชาการที่เข้าใจง่ายขึ้น โดยคาดหวังให้เข้าถึงประชาชน มีความเปิดกว้าง หลากหลาย เข้าถึงงานวิชาการหลายรูปแบบ เป้าหมายคือประชาชน รวมถึงนักศึกษา

จากนั้นเป็นช่วงของการนำเสนอบทความโดยนักวิชาการที่ส่งบทความตีพิมพ์ในฉบับปฐมฤกษ์ อาทิ นายชานันท์ ยอดหงษ์ บทควาทเรื่อง ‘สามัญปัญญาชนหญิงร่วมปฏิวัติ 2475’ , ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล บทความเรื่อง ‘จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ : อยุธยาแผ่บารมีสู่ลุ่มแม่น้ำมูล’, นายบรรณษรณ์ คุณะ บทความเรื่อง ‘อนุสาวรีย์พระเจริญราชเดช (ท้าวกวด) กับการสร้างตัวตนของชนชั้นนำท้องถิ่นมหาสารคาม (พ.ศ.2527-2560) เป็นต้น