“โบว์-ณัฏฐา” ยื่นจม.เปิดผนึกถึง “ผบ.ตร.” ร้องจนท.ใช้อำนาจตามกม.ชุมนุมแบบ “ไม่เข้าใจ-ไม่มีมาตรฐาน-ไม่เสมอภาค”

วันที่ 22 มกราคม 2562 เฟซบุ๊กแฟนเพจของน.ส.ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้โพสต์ทำเป็นจดหมายเปิดผนึกเรียนถึงพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อการใช้อำนาจตาม พรบ.ชุมนุมสาธารณะ หลังมีข้อสังเกตว่า การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กับ กลุ่มสามัคคีก่อนเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างไม่เสมอภาค ไม่ว่าขนาดของเครื่องเสียงที่ต่างกัน ยังรวมถึงกรณี สภ.เมืองนนทบุรีออกหมายเรียกแกนนำคนอยากเลือกตั้งนนทบุรี

โดยเนื้อหาระบุว่า

จดหมายเปิดผนึกถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา

“ข้อกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญ และ พรบ.การชุมนุมสาธารณะ”

โบว์ขออนุญาตมีจดหมายนี้ถึงท่านด้วยภาษาแบบพี่น้องร่วมชาติคุยกัน และส่งผ่านสื่อที่ดูเหมือนจะไม่เป็นทางการแต่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเฟสบุ๊ค เพื่อสื่อสารเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านที่มีผลต่อการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ

นับตั้งแต่มี พรบ.การชุมนุมสาธารณะปี 58 และรัฐธรรมนูญปี 60 ประกาศใช้ เจ้าหน้าที่เกือบทั้งหมดดูเหมือนจะขาดความเข้าใจ ว่าสิทธิในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 นั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อก่อความวุ่นวายให้บ้านเมือง แต่การใช้สิทธิดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสื่อสารเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ และตรวจสอบผู้ถืออำนาจ ซึ่งสิทธิเสรีภาพดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกยกไว้ในลำดับความสำคัญต้นๆของทุกประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย และได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมีทัศนคติที่คลาดเคลื่อนต่อหลักการดังกล่าว การปฏิบัติงานภายใต้พรบ.การชุมนุมสาธารณะจึงสะท้อนให้เห็นปัญหาต่อไปนี้

1. “ไม่เข้าใจ”

แทนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าใจบทบาทของตนในการอำนวยให้ผู้ชุมนุมได้ใช้เสรีภาพอย่างเต็มที่ภายใต้กรอบกฎหมาย ก็กลับปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะ “จับผิดและพยายามสกัดกั้น” ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการชุมนุม

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม โดยเฉพาะเมื่อการชุมนุมได้ผ่านพ้นไปด้วยดีแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยังย้อนกลับมาใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการผู้ชุมนุมในภายหลังอีก เช่นกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งบนสกายวอล์คเมื่อ 27 ม.ค. 61 ที่มีการตั้งข้อหาว่าชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานต่ำกว่า 150 เมตร ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 7 โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าวัดระยะห่างในภายหลังได้ 148.53 เมตร คือขาดไปเมตรกว่าๆ ทั้งที่ระหว่างการชุมนุมก็ไม่ได้มีการทักท้วงในประเด็นนี้เลย หรือล่าสุดที่ท่าน้ำนนท์ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นลานกิจกรรมที่ผู้ชุมนุมใช้เป็นจุดนัดพบอย่างสงบเรียบร้อยก่อนเดินทางยื่นหนังสือถึงกกต. ก็กลับถูกห้ามปรามและตั้งข้อหาหลังการชุมนุมผ่านพ้นไปโดยสงบกว่าหนึ่งสัปดาห์

2. “ไม่ได้มาตรฐาน”

พบว่าความรู้เกี่ยวกับ พรบ.ชุมนุมฯ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดไม่ได้มาตรฐานจนส่งผลให้เกิดการปฏิบัติที่หลากหลาย เช่น ความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของประชาชนผู้แจ้งการชุมนุมและเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับแจ้งการชุมนุม ตามมาตรา 10 และ 11 บ่อยครั้งที่ประชาชน นักกิจกรรม นักศึกษา โดยเฉพาะนอกกรุงเทพมหานคร เดินขึ้นโรงพักเพื่อแจ้งการชุมนุม และได้รับคำตอบว่า “ไม่อนุญาต” ในทันที ทั้งที่เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามมาตรา 11 ในการตรวจสอบแก้ไข รับแจ้ง และแนะนำข้อพึงปฏิบัติตามพรบ.ชุมนุมฯเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้แจ้ง

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนผู้ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพในหลายจังหวัดต้องประสบความยากลำบากในการสร้างความเข้าใจ พรบ.ชุมนุมฯต่อเจ้าหน้าที่ก่อนจะได้จัดกิจกรรม อีกทั้งนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยถูกสกัดกั้นการชุมนุมโดยสงบทั้งที่เนื้อหาในการแจ้งไม่มีส่วนใดขัดต่อกฎหมาย

3. “ไม่เสมอภาค”

เราพบเห็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นสองมาตรฐานชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ยึดแนวทางสันติวิธีแต่มักถูกห้ามปรามและสร้างความขลุกขลัก เช่นความพยายามห้ามใช้เครื่องเสียงก่อนการชุมนุม การพยายามต่อรองให้ลดเวลาลงจากที่แจ้ง การจับผิดเรื่องระดับเสียงจนเกิดสถานการณ์ยึดเครื่องเสียงขนาดเล็กของเรา เช่นที่เกิดเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ก่อนจะตรวจสอบหลักฐานพบว่าไม่มีอะไรที่เกินกรอบตามกฎหมาย ในขณะที่ม็อบสนับสนุนรัฐบาลต่อต้านคนอยากเลือกตั้งสามารถใช้รถเครื่องเสียงขนาดใหญ่ และชุมนุมได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดยปราศจากการสกัดกั้นขัดขวางและจ้องจับผิด

บรรยากาศที่เกิดขึ้นอันเกิดจากการปฏิบัติงานด้วยความ “ไม่เข้าใจ ไม่ได้มาตรฐาน และไม่เสมอภาค” นี้ ไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่จะมาถึง ซึ่งควรเกิดขึ้นในบริบทที่เสรีเป็นธรรม เพื่อให้เป็นผลดีในทางปฏิบัติ

สุดท้ายนี้ เราทุกคนผู้เคยมีประสบการณ์กับการจัดการชุมนุมทราบดีว่า เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการนั้นได้รับความกดดันใหญ่หลวงจากอำนาจที่อยู่นอกเหนือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับต้องรับภาระ ความไม่สบายใจจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน และความเสี่ยงจากการถูกดำเนินคดีข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ขอแสดงความเห็นโดยสุจริตและจริงใจว่าท่าน ผบ.ตร. ในฐานะผู้บังคับบัญชา ควรแสดงความกล้าหาญปกป้องลูกน้องให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระจากอำนาจของหน่วยงานนอกระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ตำรวจไทยได้เป็นที่พึ่งของประชาชน ในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์และต้นทางของกระบวนการยุติธรรมต่อไป

จึงขอนำเรียนมาด้วยความห่วงใย
น.ส. ณัฏฐา มหัทธนา
22 มกราคม 2562

https://www.facebook.com/nuttaa.bow/posts/240564173521554?__xts__[0]=68.ARC0WqCQrwItLtH189Qpp6Zv3tNIXVTcSMwbgGCgqXCz3AxMOCgrTkUTiuIjooq-1v_JEFVrLoSdomsz0ZQ6PVQiBhQ5gamrc8Kf3Xwnh5tSs0zTUqhsbzeJ1hyv06vp2mS0znKPT3QLydklP-s-Y3C_frS7OREgq3goxjkyuP4vfkpnxY_waFWxZcuFdWSC3HFFvRfkGwVUWZy1d6KJujJaXJR-uIllOtK8AOM4BwSA888VFbED0ECbpeqa9XtcxKTV_yChwkUQ7oTnN0JqAbDVFFdCj80GRKEf8nBzhligQ96mdZzUcMTVtddOL68Y3AeNEZG9TFxCzpOjVA&__tn__=H-R