“หญิงหน่อย-ชัชชาติ” จับมือลงพื้นที่ “บางกะปิ” ดูปัญหาจราจร-รับฟังปัญหาปากท้อง

“หญิงหน่อย-ชัชชาติ” จับมือลงพื้นที่ “บางกะปิ” ดูปัญหาดารจราจรในพื้นที่ ด้าน “ชัชชาติ” พกข้อเสนอแก้ปัญหาจราจรมาด้วย

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่แยกลำสาลี เขตบางกะปิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำพรรค และนายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขต 13 บางกะปิ-วังทองหลาง พท. ลงพื้นที่บริเวณแยกลำสาสี เพื่อสำรวจสภาพปัญหาการจราจรที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทางสำโรง ศรีนครินทร์ ลาดพร้าว ลำสาลี ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร จากนั้นได้เดินทางมายังตลาดสดบางกะปิ เพื่อพบปะพูดคุยกับพ่อค้า แม่ค้า และประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของภายในตลาด

จากนั้น เวลา 08.30 น. คุณหญิงสุดารัตน์ ให้สัมภาษณ์ ถึงการลงพื้นที่ ว่า ปัญหาการจราจรในพื้นที่ลำสาลี ปกติก็หนักอยู่แล้ว แม้ไม่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าก็เรียกว่าแยกลำสาหัสอยู่แล้ว ความเป็นจริงเราดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ตั้งแต่หลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสะพานแยกลำสาลี ก็พวกเราเป็นคนผลักดัน และขณะนี้มีการสร้างรถไฟฟ้าทั้งสายสีเหลืองและสายสีส้ม ประชาชนที่จะเดินทางไปทำงานจะต้องผ่านถนนลาดพร้าวและถนนรามคำแหง ต้องเจอสภาพการจราจรติดขัด อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่วันนี้เราพบปัญหา 2-3 อย่างคือ การคืนช่องทางจราจร ให้สามารถสวนทางได้ จะต้องดูแลเรื่องของรถที่จอด ที่กลับรถจุดที่ออกจากซอย เป็นปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ไข เมื่อมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าขึ้นมาการดูแลจะต้องมากเป็นพิเศษ ซึ่งตนเห็นใจเจ้าหน้าที่ และขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ในระหว่างที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า การที่จะช่วยให้ประชาชนใช้ทางด่วน ใช้เส้นทางลัดที่มีค่าใช้จ่าย รัฐบาลจะต้องคุยกับเอกชนเพื่อออกเป็นมาตรการช่วยเหลือให้ประชาชนมีทางเลือก

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการพบปะพูดคุยกับผู้ค้าในตลาดในวันนี้ก็เหมือนในทุกที่ ที่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ค้าขายไม่ดี มันเป็นเรื่องที่เป็นความจริงมา 4-5 ปีแล้ว เพียงแต่ว่าผู้นำของประเทศจะทราบถึงปัญหาตรงนี้หรือไม่ ทั้งที่มีการใช้งบประมาณ 11.4 ล้านล้าน ในช่วง 4-5 ปีมานี้ รวมถึงเงินกู้อีก ซึ่งเงินที่ลงไปไม่สามารถหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจได้เลย เพราะเงินลงไปไม่ถึงคนรากหญ้าซึ่งเป็นฐานใหญ่ของประเทศ หากกลุ่มคนเรานี้ไม่มีอะไรได้และไม่มีกำลังซื้อ จะไม่สามารถขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีปัญหาเพิ่มเติม เรื่องการจัดระเบียบทางเท้าในกรุงเทพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่การจัดระเบียบต้องมาพร้อมกับสองสิ่งคือ การคืนทางเท้าให้คนในกรุงเทพสามารถสัญจรได้แล้ว ยังจะต้องมีที่ทำมาหากินให้กับคนที่เขาเคยขายของตามทางเท้า หากจัดระเบียบเอาแค่กฎหมายโดยไม่คืนวิถีชีวิตให้กับพ่อค้าแม่ค้า ก็จะไปด้วยกันไม่ได้ซึ่งในสมัยพรรคไทยรักไทยเราเคยเสนอแผน การใช้พื้นที่บริเวณใต้รถไฟฟ้า และบริเวณจุดสถานีขึ้นลงในการที่เราจะต้องช่วยหาสถานที่ขายของ ทั้งนั้นเรามองว่าจะเช่าอาคารพานิชย์แล้วทำเป็นที่ขายของ ให้กับพ่อค้าแม่ค้า ชาวบ้านที่เป็นผู้บริโภคก็จะมีความสะดวก ซึ่งปัญหาตรงนี้ก็ยังคาราคาซังอยู่และซ้ำเติมในเรื่องเศรษฐกิจ

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ตอนนี้กทม. เรามีการก่อสร้างรถไฟฟ้าจำนวน 7 สาย รวมระยะทาง 160 กิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ฝั่งตะวันออก ทำให้พื้นที่ฝั่งนี้ได้รับผลกระทบ และประชาชนที่อยู่อาศัยจำนวนมาก สิ่งที่ตนสังเกตเห็นถึงภาครัฐ จะต้องกำชับดูแลผู้รับเหมาให้ดี โดยการใช้พื้นที่เท่าที่จำเป็น อย่ากันพื้นที่มากเกินกว่าความจำเป็น เพราะจะทำให้ผู้รับเหมาสะดวกแต่ประชาชนลำบาก ดังนั้นภาครัฐต้องเข้มงวดและหาทางเลือก เช่น ให้ประชาชนใช้เส้นทางวงแหวนไปขึ้นทางด่วนพระรามเก้าเพื่อเข้ากรุงเทพส่วนนี้รัฐบาลจะช่วยลดค่าทางด่วนเส้นวงแหวน ได้หรือไม่เพราะประชาชนจะได้มีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเราทุกคนจะต้องช่วยกัน ทั้งนี้ตนเห็นว่าภาครัฐได้พยายามแล้ว ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็จะต้องช่วยด้วย นอกจากนี้ปัญหาอีกอย่างที่เจอคือเรื่องศูนย์การค้า ที่ต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวม อย่าเอาประโยชน์ส่วนตัวต้องจัดให้มีที่จอดรถรับส่งสาธารณะ รถแท็กซี่ในศูนย์การค้า ไม่ให้มาจอดรับที่ข้างถนน ซึ่งการแก้ปัญหาทั้งหมดจะต้องร่วมมือกัน พร้อมกับมีการวางแผนระยะยาว

ทั้งนี้ นายชัชชาติได้จัดทำเอกสารซึ่งเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวการคมนาคมในพื้นที่เขตบางกะปิที่อยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลงมาเสนอต่อสื่อ และประชาชนในพื้นที่ด้วย

มติชนออนไลน์