อาเซียนรับลูกไทย เร่งวางแนวทางรับมือปฏิวัติอุตฯ4.0

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Committee of the Whole: CoW) ครั้งที่ 9 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นการพบกันปีละครั้งของคณะกรรมการรายสาขาภายใต้เสาเศรษฐกิจของอาเซียนกว่า 23 สาขา (อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขัน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า) รวมทั้งเชิญผู้แทนเสาสังคมและวัฒนธรรม เสาการเมืองและความมั่นคง เข้าร่วมหารือประเด็นคาบเกี่ยวระหว่างกันที่จะต้องกระชับความร่วมมือ เพื่อให้การทำงานของอาเซียนประสบความสำเร็จ ตลอดจนรับทราบผลการดำเนินงานปี 2561 ของคณะกรรมการสาขาต่างๆและแผนการทำงานปี 2562

“ประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะคาบเกี่ยวกับคณะกรรมการสาขาต่างๆ ในเสาเศรษฐกิจ เช่น การเตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ 4IR การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน การอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และกฏระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น ”

นางอรมน กล่าวว่า สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ยังมีการเตรียมตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การเข้ามาของระบบหุ่นยนต์ ออโตเมชั่น และปัญญาประดิษฐ์ในห่วงโซ่การผลิต หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ที่ต่างกันอยู่มาก ที่ประชุมคณะกรรมการรายสาขาของอาเซียน จึงเห็นตรงกันว่า คณะกรรมการรายสาขาต่างๆ ในสามเสาประชาคมอาเซียน รวมทั้งสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนจะต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดและจริงจัง เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของอาเซียนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ การจัดทำแผนงานอาเซียนรับมือ 4IR การนำระบบดิจิทัลมาช่วยอำนวยความสะดวกการทำงานของอาเซียน เป็นต้น และเห็นควรให้จัดการประชุมคณะกรรมการรายสาขาอีกครั้ง เพื่อหารือประเด็นการเตรียมอาเซียนรับมือ 4IR โดยเฉพาะ ในระหว่างการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2562 ที่กรุงเทพฯ เพื่อกำหนดกลไกการทำงานและขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

นางอรมน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นพ้องกับประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยในฐานะประธานอาเซียน เสนอให้อาเซียนร่วมกันดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จในปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น ได้แก่ 1. การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต เช่น การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย 2.ความเชื่อมโยง เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร 3. การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัย และการพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในอาเซียน เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมสนับสนุนข้อเสนอของไทย โดยเห็นว่าตรงกับแนวโน้มของโลก และ สอดรับกับความต้องการของอาเซียนและภาคเอกชน

มติชนออนไลน์