‘อาจารย์จุฬาฯ’ค้านกศน.สอนป.ตรี หวั่นแย่งเด็กวชช.-มทร.หนุนยกฐานะเป็นนิติบุคคล

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ…. ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการยกฐานะ สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นนิติบุคคล ให้มีความอิสระในการบริหารจัดการ ไม่เป็นแท่งหรือเป็นกรม ที่อยู่ภายใต้สำนักงานปลัดศธ. เช่นเดิม เพราะแนวโน้มอนาคต อาจจะมีการปรับโครงสร้างศธ. ลดสถานะ 5 แท่งเหลือเพียงกรม และมีปลัดศธ. ทำหน้าที่บริหารในภาพรวม เป็นซี11 เพียงคนเดียว ดังนั้น การปรับสถานะกศน. เป็นนิติบุคคลจึงค่อนข้างเหมาะสม ขณะที่ปรัชญาการทำงาน มีวิธีคิดที่ค่อนข้างดี ตอบโจทย์โลกอนาคต ที่การศึกษาตลอดชีวิต อาชีวศึกษา และการศึกษาปฐมวัยจะมีส่วนสำคัญในการเรียนรู้

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า จุดแข็งของกฎหมายกศน.ฉบับนี้คือ ความเป็นนิติบุคคล กศน.ตำบล จะเป็นหลักสำคัญในการทำงาน ดังนั้นการบริหารบุคลากร จะต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมีเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตที่ยังไม่ชัดเจนอยู่ 3 ประเด็นที่จะต้องเพิ่มเติมคือ ยังขาดการเรียนรู้ในส่วนของดิจิทัลแพลตฟอร์ม มีกรรมการที่มาจากตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ มากเกินไป อยากให้เลิกวิธีคิดแบบเก่า เพราะจากประสบการณ์ ตัวแทนเหล่านี้ เมื่อเข้ามาที่ประชุมจะนั่งเงียบ ๆ ไม่ค่อยเสนอความคิดเห็น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีผู้แทนจากหน่วยงานเหล่านี้เป็นกรรมการมากนัก แต่ควรเพิ่มผู้แทนที่มาจากภาคประชาสังคม ซึ่งค่อนข้างทำงานอย่างจริงจังจะเกิดประโยชน์มากกว่า

“อีกประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วยในกฎหมายฉบับนี้ คือ ไม่อยากให้กศน.ไปเน้นในเรื่องการสอนระดับปริญญาตรี เพราะในอนาคต จะเกิดปัญหาการแย่งเด็ก โดยเฉพาะกับกลุ่ม วิทยาลัยชุมชน (วชช.) กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชการมงคล (มทร.) ซึ่งจำนวนผู้เรียนน้อยอยู่แล้ว แต่อยากให้เน้นผู้เรียนในระดับอนุปริญญา และการเรียนสายอาชีพเพื่อการมีงานทำ และการศึกษานอกระบบ จะตอบโจทย์บทบาท และหน้าที่ของกศน.มากกว่า ปริญญาตรีอาจไม่ใช่จุดมุ่งหมายสำคัญของการเรียนในอนาคต”นายสมพงษ์กล่าว

มติชนออนไลน์