บินแล้ว! กรมฝนหลวงขึ้นบินทำก้อนเมฆแล้วผลตอบรับดี บินต่อรอบ2 ประสาน2สนามบินขอบินใกล้กทม.

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จ.ระยอง นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า หลังจากที่กรมฝนหลวงได้ติดตามสภาพอากาศแล้วพบว่าเหมาะที่จะทำปฏิบัติการฝนหลวง เพราะความชื้นในอากาศค่อนข้างที่จะสูงพอสมควร อยู่ที่ประมาณ 60% ส่วนการยกตัวของเมฆอยู่ในระดับที่ดีเช่นกัน จึงได้มีการตัดสินใจขึ้นบินในขั้นตอนแรกเมื่อเวลา 10.30 น. โดยใช้เครื่องบินคาซา จำนวน 2 ลำ และนำเครื่องบินลงจอดในเวลา 12.00 น. ซึ่งการปฏิบัติในขั้นตอนแรกคือเป็นการสร้างแกรนเมฆ โดยใช้เกลือแกงและโซเดียมคลอไรด์ นำไปโปรยตั้งแต่ อ.พนัสนิคม ไล่ไปทาง อ.บางประกง ไปจนถึง อ.บางน้ำเปรี้ยว เนื่องจากวันนี้ (15 ม.ค.62) ทิศทางลมพัดไปทางทิศตะวันออก จึงนำแกรนไปวางแถวบริเวณนั้น ประกอบกับกรุงเทพฯ อยู่ที่ทิศตะวันตกของ จ.ฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ หลังจากการวางแกรนเสร็จสิ้น นักบินและนักวิทยาศาสตร์ที่ขึ้นไปปฏิบัติการรายงานว่า จากที่ทำการวางแกรนไปแล้วได้เห็นถึงการพัฒนาของเมฆพอสมควร โดยเมฆเริ่มเกาะกลุ่มกัน จากผลดังกล่าว ทางกรมฝนหลวงจึงได้เร่งดำเนินการในขั้นตอนที่ 2 คือการเลี้ยงเมฆให้อ้วน ตามตำราฝนหลวงพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งคาดว่าจะขึ้นไปปฏิบัติการในช่วง 13.30 น.ของวันนี้ และหลังจากการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ก็จะเกิดการรวมตัวของเมฆตามธรรมชาติ และปล่อยให้เมฆเหล่านี้ไหลลอยไปตามธรรมชาติตามกระแสลม ซึ่งความแรงของกระแสลมจะพัดพาเมฆให้ลอยตัวไปยังพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลต่อไป

นายสุรสีห์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มีการประสานงานไปยังท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง คือท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อขอบินเข้าไปใกล้ชิดพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งตามปกติแล้วการบินจะต้องบินใกล้ชิดสนามบินไม่เกิน 50 ไมล์ แต่ครั้งนี้เราได้รับการอนุญาตในการบินเข้าไปใกล้สนามบิน 15-20 ไมล์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการที่จะเข้าไปปฏิบัติการเลี้ยงเมฆได้ใกล้และทำให้เกิดฝนใกล้พื้นที่กรุงเทพฯ มากขึ้น โดยจะช่วยในการลดฝุ่นละออง PM2.5 ที่ประชาชนกำลังเป็นกังวลอยู่ในขณะนี้ให้มีจำนวนลดลงได้

“จากสถานการณ์ปัจจุบัน ทางกรมฝนหลวงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามความก้าวหน้า และเพื่อเป็นการที่จะปรึกษาหารือกันได้ทันท่วงที เพราะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมทั้งสิ้น และหลังจากนี้ทุกวัน ในส่วนของทีมภูมิภาค จะมีการประชุมเพื่อตรวจเช็กสภาพอากาศในการดำเนินการทุกวัน ก่อนที่จะตัดสินใจขึ้นบิน หากพบปัญหาในการปฏิบัติงานก็จะสามารถช่วยกันคิดและดำเนินการแก้ไขได้ทันที อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการดังกล่าวโดยจะเริ่มการดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และยังไม่มีกำหนดการว่าจะปิดจนกว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติ” นายสุรสีห์กล่าว

มติชนออนไลน์