‘สนธิรัตน์’ หารือภาคประชาสังคม-ม.รังสิต ไร้ข้อสรุป ‘สิทธิบัตรกัญชา’!! ไบโอไทยลั่นซื้อเวลา

เมื่อวันที่ 11 มกราคม  ที่กระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้แทนภาคประชาสังคมที่มีความเห็นต่างเรื่องการจดสิทธิบัตรกัญชา อาทิ มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิชีววิถีไบโอไทย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(เอฟทีเอวอช) สุถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัน และเกษตรกร รวมถึงตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง  ว่า ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางในประเด็นการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาและสิทธิบัตรที่มีสารสกัดจากกัญชาเป็นองค์ประกอบ จำนวน 13 คำขอจากทั้งหมด 33 คำขอ โดยได้ข้อสรุปให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาและภาคประชาสังคมไปหารือกัน ตั้งทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลที่แต่ละฝ่ายมี เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขปัญหาการจดสิทธิบัตรกัญชา

“ ให้ไปพูดคุยว่า 13 คำขอ ที่เป็นคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา หรือมีสารสกัดจากกัญชาเป็นองค์ประกอบ เพราะซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมองข้อกฎหมาย ตีความกฎหมายแตกต่างกัน ก็ให้ไปหาทางออกร่วมกันว่าจะทำยังไง วิธีการไหน โดยให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด ส่วนจะยกเลิกคำขอหรือไม่อยู่ที่การหารือ เพราะตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่าคำขอแต่ละรายการอยู่ในขั้นตอนไหน การหาทางออกแบบนี้ ไม่ใช่การถ่วงเวลา  สำหรับอีก 20 คำขอจดสิทธิบัตรที่ไม่มีสารสกัดจากกัญชาเป็นองค์ประกอบ หรือเป็นสารสังเคราะห์และที่มีโครงสร้างคล้ายกัญชา ในที่ประชุม ไม่มีใครติดใจ และไม่มีปัญหาในการเข้ามายื่นจดสิทธิบัตรของต่างชาติ “นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวหลังการประชุมว่า ภาคประชาสังคมต้องการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญายกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรทั้ง 13 คำขอในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขภายใน 7 วัน  เพราะเป็นคำขอที่ขัดต่อพ.ร.บ.สิทธิบัตร มาตรา 5 มาตรา 9 (1) (4) (5) ขัดต่อศีลธรรม เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติด และหากรับจดสิทธิบัตรจะเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างต่างชาติกับคนไทย ซึ่งทางออก คือ ต้องยกเลิกเท่านั้น และต้องพิจารณาภายใน 7 วัน ไม่ควรจะใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี

“ถ้าไม่ยกเลิกภายใน 7 วัน เตรียมการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อให้เพิกถอนคำขอจดสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากที่ก่อนหน้านี้ ได้ไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เอาผิดอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรมาแล้ว” นายปานเทพ กล่าว

นายปานเทพ กล่าวว่า ขณะนี้พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ กำลังจะมีผลบังคับใช้ หากไม่ยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตร จะทำให้ผู้จดสิทธิบัตรได้ประโยชน์ทันที และเห็นอีกว่าการจะรับจดสิทธิบัตร ต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศเห็นหลัก ไม่ใช่ให้ข้อตกลงระหว่างประเทศมามีอำนาจเหนือกฎหมายไทย อย่างกรณีสหรัฐฯ การรับจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา ให้ทำได้หลังจากอนุญาตให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว

“ ภาคประชาสังคมยืนยันว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาจะมาอ้างว่าไม่สามารถยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรได้ในทันที เพราะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายไม่ได้ เนื่องจากคำขอจดสิทธิบัตรทั้ง 13 คำขอดังกล่าว ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น ทั้งขัดพ.ร.บ.สิทธิบัตร ผิดพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ และขัดรัฐธรรมนูญในเรื่องความไม่เสมอภาคในการจดสิทธิบัตร จึงทำได้เพียงอย่างเดียว คือ ยกเลิกคำขอทั้งหมด “ นายปานเทพ กล่าว

ด้านมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) เผยแพร่ข้อเสนอภาคประชาสังคม 4 ประเด็นภายหลังการหารือ ว่า หลังจากหารือร่วมกันระหว่างไบโอไทย เอฟทีเอว็อทช์ มหาวิทยาลัยรังสิต สภาการแพทย์แผนไทย กับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สรุปผลดังต่อไปนี้

 

รัฐมนตรีเห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคประชาสังคมและจะรีบดำเนินการใน 4 ประเด็นสำคัญคือ

  1. เห็นว่าจำเป็นต้องยกเลิกคู่มือแนวปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ใช้แนวปฏิบัติของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นซึ่งเปิดให้มีการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากพืช
  2. ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลสาระสำคัญของคำขอสิทธิบัตรที่ผ่านกระบวนการประกาศโฆษณาแล้วผ่านเว็บไซท์ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเปิดเผยโปร่งใส
  3. แก้ไขกฎระเบียบและกฎหมายสิทธิบัตรให้แสดงที่มาของทรัพยากรชีภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่นเดียวกับ กฎหมายสิทธิบัตรของจีน หรือ อินเดีย เป็นต้น

ส่วนประเด็นที่  4. กรณีการยกเลิกสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำนวน 13 สิทธิบัตร (ต้องตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง) ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในวันนี้ โดยรัฐมนตรีเห็นด้วยกับหลักการที่ภาคประชาสังคมเสนอในการจัดการปัญหาเรื่องสิทธิบัตร แต่ติดขัดอยู่ที่แนวและวิธีปฏิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานที่มีผู้เข้าร่วมการประชุมในวันนี้ร่วมหารือ โดยภาคประชาสังคมกำหนดให้หาข้อยุติให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ทั้งนี้หากการตั้งคณะทำงานครั้งนี้ไม่สามารถหาข้อยุติ จนนำไปสู่การยกเลิกสิทธิบัตรได้ทั้งหมด ภาคประชาสังคมจะเดินหน้าฟ้องร้องดำเนินคดี และเคลื่อนไหวโดยใช้มาตรการอื่นๆต่อไป

“มีความเป็นไปได้ว่าหากคำขอสิทธิบัตรไม่ถูกยกเลิก อาจจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการบังคับใช้ “กฎหมายคลายล็อกกัญชา” ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับปรับปรุงแก้ไขซึ่งเพิ่งผ่านการพิจารณาในวาระ 3 ของสนช.เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลอาจจะตัดสินใจไม่นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังเกล้าขึ้นทูลเกล้าฯ

ความฝันที่จะเห็นการคลายล็อคกัญชาจะกลายเป็นฝันสลาย ในขณะที่ปัญหาการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถูกซื้อเวลายืดออกไปอีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์

มติชนออนไลน์