“เพื่อชาติ” ชี้บทเพลง “ในความทรงจำ” สะท้อน “ประยุทธ์” ไม่จริงใจปรองดอง แถมลำเลิกเรื่องเก่าตอนเสียท่า

วันที่ 11 มกราคม 2562 ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ แสดงความคิดเห็นต่อเพลง“ในความทรงจำ” ซึ่งถือเป็นเพลงที่ 7 แล้วที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งคำร้อง โดยมีเนื้อหาย้ำเตือนให้นึกถึงความทรงจำที่ประเทศเคยมีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย และโกรธเคืองกัน พร้อมให้ร่วมกันเดินไปข้างหน้า อย่าให้ใครมาทำลายเหมือนที่เคยเกิดขึ้น เพราะกว่าจะทำให้รวมกลับมาเป็นเหมือนเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย ว่า

ตนคิดว่าเป็นวิธีสื่อสารทางการเมืองวิธีหนึ่งของ พลเอกประยุทธ์ ที่ได้อยู่ในอำนาจมาเกือบห้าปี โดยได้แต่งเพลงออกมา 7 เพลง ซึ่งในแต่ละเพลงก็มีความหมายในเชิงสื่อสารกับประชาชน ซึ่งรัฐบาลก็จะนำเอาเพลงเหล่านี้ไปเปิดซ้ำไปซ้ำมาให้ประชาชนฟัง ตนคิดว่าความนิยมในเพลงของพลเอกประยุทธ์ กับความนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์ก็ไม่ต่างกัน เพลงแรก ๆ อาจจะติดหูหน่อย คนร้องตามได้มากหน่อย แต่พอเพลงที่สองสามสี่ จนมาถึงเพลงที่เจ็ดในตอนนี้ ความนิยม ความติดหูของเพลง ก็ลดลงเรื่อย ๆ กลายเป็นความเบื่อหน่ายของประชาชนแทน

รวมถึงความหมายในเพลง ที่มีเป้าหมายเพื่อการสื่อสารทางการเมืองไปสู่ประชาชน ตั้งแต่เพลงคืนความสุขให้ประชาชน ที่ออกมาเป็นเพลงแรก ถือเป็นคำสัญญาของพลเอกประยุทธ์ ที่มีต่อประชาชนแต่แล้วจนถึงบัดนี้ เกือบห้าปีแล้ว ประชาชนก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สัญญาไม่เป็นสัญญา ที่บอกจะคืนความสุข กลับกลายเป็นการคืนความทุกข์มากกว่า และที่บอกว่าขอเวลาอีกไม่นานจะไปโดยเร็ว แต่กลับไม่ยอมไปเสียที เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ผิดสัญญา ผิดคำพูด ครั้งแล้วครั้งเล่า จนไม่มีใครเชื่อคำพูดของพลเอกประยุทธ์อีกแล้ว เพลงที่สอง สาม สี่ จนถึงหก ก็จะมีเนื้อหาอธิบายว่าทำไมต้องอยู่ต่อ อยู่ยาว ก็เป็นเหตุผล ข้ออ้างเดิม ๆ ที่เราได้ยิน ได้ฟังกันมาเสมอ ๆ แล้วที่ยึดอำนาจมาตั้งนาน ไหนว่าประเทศสงบแล้ว ทำไมยังอยู่ ทำไมยังไม่ยอมไปอีก ประชาชนก็ได้แต่ตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย จนมาถึงเพลงที่เจ็ด ล่าสุดนี้ “ในความทรงจำ” ที่มีเนื้อหาใจความให้คนไทยนึกถึงความขัดแย้งในอดีตที่เคยมีการรแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ประเทศกลับไปสู่สถานการณ์เช่นนั้นอีก

ดร.รยุศด์ กล่าวอีกว่า การสื่อสารทางการเมืองผ่านเพลงนี้เป็นสิ่งสะท้อนถึงความคิดของนายกรัฐมนตรี และตนก็คิดว่าท่านควรจะต้องย้ำเตือนตัวเองให้มากตามเนื้อหาของเพลง ว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่นำพาความขัดแย้งกลับมาสู่ประเทศไทยอีก และท่านต้องระลึกไว้ในใจเสมอ ถ้าต้องการให้ประเทศสงบ ไม่มีความขัดแย้งอีก ก็ควรนำพาประเทศชาติบ้านเมืองไปสู่ความประชาธิปไตยโดยเร็ว แก้ปัญหาของประเทศด้วยวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน อะไรที่จะนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตยได้ ควรจะรีบทำมิใช่เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อย ๆ หรือใช้ข้ออ้าง ช่องว่างทางกฎหมาย สืบทอดอำนาจอีก และตนก็เชื่อว่าคนไทย และสังคมไทยก็มีขีดจำกัดทางความรู้สึก ตนจึงรู้สึกเป็นห่วงบ้านเมืองไม่ต่างนายกรัฐมนตรี ที่ไม่อยากให้ประเทศกลับไปสู่วังวนของความขัดแย้งอีกครั้ง

ดร.รยุศด์ ยังกล่าวต่ออีกว่า การที่นายกรัฐมนตรีปล่อยเพลงใหม่มาตอนนี้ อาจจจะเกิดจากการเพ้อ คิดถึงความหลัง ตามประสาคนอายุมาก หรืออาจเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน อย่างที่ท่านบ่นบ่อยๆ ซึ่งทำให้คนแก่อย่าง พลเอกประยุทธ์อาจจะระลึกเองได้ว่า การวิกฤตของประเทศตลอดสิบกว่าปีมานี้ เกิดจากพวกท่านเอง ทั้งการยึดอำนาจ การล้มการเลือกตั้ง ตุลาการภิวัฒน์ และอื่นๆ ท่านจึงมีความตั้งใจที่จะสื่อสารไปยังประชาชนทั้งประเทศผ่านบทเพลง “ในความทรงจำ” ซึ่งอาจจะเป็นการสะท้อนถึงความคิดว่าตัวท่านเองอาจลาออกจากตำแหน่งทั้งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. รวมถึงจะไม่สืบทอดอำนาจต่ออีกด้วย อาจถือเป็นข่าวดีของคนไทยในเร็ววันนี้ก็เป็นได้ และหากเป็นจริงก็ถือเป็นความโชคดีของประเทศ เพราะเป็นสิ่งที่พลเอกประยุทธ์ ควรคิดได้ตั้งนานแล้ว และจะเป็นหนทางเดียวที่จะนำพาประเทศไปสู่ความสงบสุข และไม่เกิดความขัดแย้งอย่างแท้จริง