รมว.ต่างประเทศออสซี่ รุดมาไทยพบ “ประจิน-ดอน” หารือช่วยนักเตะผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรน

วันที่ 10 มกราคม 2562 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า มารีส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียได้เดินทางถึงประเทศไทย โดยจะเข้าพบ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและรองนายกรัฐมนตรีและนายดอน ปรมัตวินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย เพื่อหารือระดับทวิภาคี และคาดว่ารวมถึงการเจรจาปล่อยตัวนายฮาคีม อัลอาไรบี อดีตนักฟุตบอลชาวบาห์เรน ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลออสเตรเลียแต่ถูกจับระหว่างมาเที่ยวฮันนีมูนในไทย และถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯรอเตรียมส่งตัวกลับไปยังบาห์เรนเพื่อไปรับโทษจากการร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

โดยการเยือนของเพย์นมีขึ้นหลังจากที่ รัฐบาลออสเตรเลียได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่น.ส.ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนูน หญิงสาวชาวซาอุดิอาระเบียวัย 18 ปี ที่ยังคงอยู่ในเซฟเฮ้าส์ภายใต้การดูแลของยูเอ็นเอชซีอาร์หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติ ก่อนจะได้ไปตั้งรกรากใหม่ในออสเตรเลีย

เพย์นได้กล่าวผ่านคำแถลงว่า จะนำเรื่องการช่วยเหลือนายอัลอาไรบีหารือกับรัฐบาลไทยเพื่อนำตัวเขากลับไปออสเตรเลียอย่างปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศหรือฟีฟ่าได้แถลงเรียกร้องให้ปล่อยตัวและอนุญาตให้นายอัลอาไรบีกลับไปยังออสเตรเลีย รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มเรียกร้องให้ทางการไทยแสดงความมีมนุษยธรรมกับนายอัลอาไรบีแบบเดียวกับที่ปฏิบัติกับน.ส.ราฮาฟ

ขณะที่ สถานการณ์ล่าสุดของ น.ส.ราฮาฟ ยังคงอยู่ในความดูแลของยูเอ็นเอชซีอาร์ และปฏิเสธที่จะให้พ่อและพี่ชายเข้าพบ ซึ่งเดินทางถึงไทยและพยายามนำตัวน.ส.ราฮาฟกลับ โดยน.ส.ราฮาฟระบุเหตุผลระหว่างขังตัวเองอยู่ในห้องพักของโรงแรมในสนามบินสุวรรณภูมิว่า ต้องการลี้ภัยไปออสเตรเลียเพราะละทิ้งศาสนาจากการปฏิเสธงานแต่งงานที่ไม่เป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งธรรมเนียมประเพณีของผู้หญิงในซาอุดิอาระเบียที่ปฏิเสธและหันหลังให้หลักความเชื่อ อาจถูกคนในครอบครัวลงโทษถึงขั้นฆ่าให้ตาย แม้ว่าพ่อและพี่ชายจะปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าครอบครัวปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อร่างกายและจิตใจของราฮาฟ

ทั้งนี้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา น.ส.ราฮาฟถูกเจ้าหน้าที่ สตม.สนามบินสุวรรณภูมิยึดพาสปอร์ตและกักตัวก่อนดำเนินการส่งตัวกลับประเทศซาอุดิอาระเบียในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง แต่ราฮาฟระบุว่า เธออยู่ในระหว่างรอเปลี่ยนเครื่องเพื่อเดินทางต่อไปยังออสเตรเลียและถูกเจ้าหน้าที่ไทยและรวมถึงจนท.ของสถานทูตซาอุฯยึดพาสปอร์ตไป ซึ่งต่อมา สถานทูตซาอุฯประจำประเทศไทยชี้แจงว่าไม่ได้มีความประสงค์นำตัวราฮาฟกลับประเทศ และกระแส #SaveRahaf ที่เกิดขึ้นและเผยแพร่อย่างรวดเร็ว ได้กลายเป็นพลังกดดันให้ทางการไทยยอมเปิดทางให้จนท.ยูเอ็นเอชซีอาร์เข้าพบและนำตัวราฮาฟออกมาอย่างปลอดภัย