คนไทยว่างงานกว่า 4 แสน ไตรมาส2 เลิกจ้างเพิ่มขึ้น 34.8% บัณฑิตเตะฝุ่นเพิ่มขึ้น 7%

AFP PHOTO / Christophe ARCHAMBAULT

(28 พ.ย.) นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือน ต.ค.59 มีสัญญาณการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 1.2% หรือ 450,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 120,000 ราย จากเดือน ก.ย.59 ที่ตัวเลขว่างงานอยู่ที่ 0.9% หรือ 330,000 ราย เนื่องจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมีการว่าจ้างงานลดลง โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับฤดูการผลผลิตที่มีจำนวนน้อย แม้ตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้น ยังถือว่าไม่ได้สูงจนน่าเป็นห่วง เพราะปกติการว่างงานของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.9-1% และเมื่อเทียบกับการว่างงานของประเทศอื่น ๆ ยังถือว่าของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ แนวโน้มธุรกิจภาคบริหารที่เป็นตลาดการจ้างงานที่สำคัญมีสัญญาณที่ดีขึ้น ทั้งธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจขนส่ง จะทำให้การจ้างงานเพิ่มและอัตราการว่างงานในอนาคตน่าจะปรับตัวลง ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่ผ่านมติ ครม.และเริ่มในช่วงปี 60 ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมของไทย จึงไม่ทำให้การว่างงานของไทยเพิ่มขึ้นสูงจากปัจจัยนี้

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2559 มีการจ้างงานทั้งสิ้น 37,393,472 คน ลดลง 0.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจ้างงานภาคเกษตร ลดลง 6.2% แม้ภัยแล้งสิ้นสุดลงแล้วแต่สถานการณ์ภัยแล้งที่สะสมมาตั้งแต่ฤดูกาลเพาะปลูกปี 2557 ทำให้กิจกรรมทางการเกษตรลดลงต่อเนื่อง

ส่วนการจ้างงานภาคนอกเกษตร เพิ่มขึ้น 1.4% สอดคล้องกับการจ้างงานสาขาก่อสร้างเพิ่มขึ้น 5.4% การขนส่งเพิ่มขึ้น 1.4% โรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้น 4% และการค้าปลีก 1.4% ยกเว้นสาขาอุตสาหกรรม ลดลง 1.7% ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 เนื่องจากภาคการส่งออกคงมีแนวโน้มติดลบ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกภาระต้นทุน หันใช้วิธีลดแรงงานและใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคน

นายปรเมธีกล่าวว่า ส่วนการว่างงานไตรมาส 2/2559 มีทั้งสิ้น 411,124 คน ซึ่งคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.08% เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 0.88%

โดยผู้ที่เคยทำงานมาก่อนว่างงานเพิ่มขึ้น 31.3% สอดคล้องกับข้อมูลผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้น 8.9% เป็นกรณีเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 34.8% และลาออก เพิ่มขึ้น 3.4%

ขณะที่ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 13.7% เพราะเป็นช่วงผู้จบใหม่เริ่มเข้าตลาดแรงงาน จำแนกเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 47% จบระดับอุดมศึกษามีอัตราว่างงานเพิ่มขึ้น 7% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ด้านรายได้ของแรงงาน พบว่า ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลา และผลตอบแทนอื่นๆ เพิ่มขึ้น 1.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากรายได้ของแรงงานนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 1.4% แต่รายได้ของแรงงานภาคเกษตรยังลดลง 2.7%

“แม้ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น แต่การผลิตเพื่อการส่งออกยังคงลดลง ทำให้ผู้ประกอบการใช้วิธีเลิกจ้าง ซึ่งบางส่วนหันไปทำงานภาคบริการมากขึ้น จึงทำให้ตัวเลขการว่างงานไม่อยู่ในอัตราสูงมากนัก” นายปรเมธีกล่าว

นายปรเมธีกล่าวว่า ส่วนหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/2559 มีมูลค่า 11,077,755 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7%  แต่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2556 ที่หนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 11.5% ปี 2557 เพิ่มขึ้น 6.6% และปี 2558 เพิ่มขึ้น 5.2% โดยหนี้ครัวเรือนไตรมาส1/2559 สัดส่วน 81.1% ต่อจีดีพี ลดลงจากปี 2558 ที่ 81.5% ต่อจีดีพี สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวในอัตราลดลงเหลือ 5.7% ในไตรมาส 1/2559 และ 6% ในไตรมาส 2/2559 ส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอลรวม) ไตรมาส 2/2559 มีมูลค่า 98,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% คิดเป็นสัดส่วน 26.3% ของเอ็นพีแอลรวม ทั้งนี้การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคล ในไตรมาส2/2559 มีมูลค่า 10,527 ล้านบาท ลดลง 33.1% ส่วนการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตไตรมาส 2/2559 มีมูลค่า 9,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงที่ระดับ 3%