กรมการจัดหางาน พบแรงงานต่างด้าวผิดกม.กว่า 4,000 คน เก็บค่าปรับได้ 15.5 ล้าน

วันที่ 3 มกราคม 2561 นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีนโยบายในการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีคนต่างด้าวลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการปกครอง เข้าตรวจสอบในพื้นที่/กิจการกลุ่มเสี่ยงที่จะมีแรงงานต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561

โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 – 2 มกราคม 2562 ได้ออกตรวจสอบนายจ้างไปแล้วจำนวน 8,806 ราย/แห่ง ดำเนินคดี 692 ราย/แห่ง คิดเป็นมูลค่าค่าปรับ จำนวน 5,343,000 บาท ในข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 535 แห่ง/ราย และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 73 แห่ง/ราย ความผิดตาม พรก.การบริหารฯ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฯ จำนวน 84 แห่ง/ราย

ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าว จำนวน 149,315 คน จับกุมดำเนินคดีแรงานผิดกฎหมายได้กว่า 4,262 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา 2,914 คน รองลงมาเป็นกัมพูชา 583 คน ลาว 360 คน เวียดนาม 233 คน และอื่นๆ อีก 172 คน ตามลำดับ โดยดำเนินคดีในข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,702 คน และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 1,650 คน พรก.การบริหารฯและ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฯ จำนวน 910 คน ผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง จำนวน 3,472 คน ปรับไปแล้ว 10,165,500 บาท รวมค่าปรับทั้งนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวจำนวนทั้งสิ้น 15,508,500 บาท

ทั้งนี้ สำหรับนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้จะมีโทษปรับ 10,000 – 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี

อย่างไรก็ตามแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทย จะต้องเข้ามาในรูปแบบการนำเข้าตามระบบ MOU เท่านั้น ซึ่งดำเนินการได้ 2 กรณี คือ 1.นายจ้างเป็นผู้ดำเนินการเอง และ 2. นายจ้างมอบอำนาจให้ผู้รับอนุญาตดำเนินการ โดยสามารถติดต่อสอบถามหรือยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงานได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน