เลขาฯองค์กรต้านคอร์รัปชั่นฯจี้ 4ข้อ ปปช.ต้องตอบ ถาม ต่างกับคดีสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ยังไง?

วันนี้ (28 ธ.ค.) นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรืรัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊กกล่าวถึงกรณี ปปช.มีมติ ตีตกคดีนาฬิกาหรูของรองนายกรัฐมนตรี กรณีถูกร้องไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยหลังตรวจสอบพบไม่พบความผิด โดยระบุว่า

เมื่อนาฬิกาเดินไม่ตรง ป.ป.ช. จึงตกเป็นจำเลยร่วม

“ผู้ถูกกล่าวหา” จะพูดหรือให้การอย่างไรก็ได้แม้เป็นเท็จ การคาดหวังว่าเขาจะมีคุณธรรมมีศักดิ์ศรีจึงเป็นแค่ฝันลมๆ แล้งๆ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต้องสืบสวนหาความจริงมาพิสูจน์โดยไม่เห็นแก่พวกพ้องหรือผู้มีอำนาจ เพราะ “หลักนิติธรรม” เลือกปฏิบัติไม่ได้ เรื่องแบบนี้นักกฎหมายรู้ดี และ ป.ป.ช. ย่อมเข้าใจเช่นกัน ดังนั้นการเชื่อคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดแบบสวนความรู้สึกประชาชนย่อมทำให้ ป.ป.ช. กลายเป็นจำเลยร่วมไปทันที

ตามกฎหมาย กรรมการ ป.ป.ช. ทุกคนต้องมี “คำวินิจฉัยส่วนบุคคล” อธิบายเหตุผลที่ตนลงมติไป จึงควรเปิดเผยบันทึกนี้ของกรรมการเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย ให้สังคมได้รับรู้เพื่อความโปร่งใสตามเจตนารมย์ของกฎหมาย

ป.ป.ช. ควรอธิบายด้วยว่า

1. หากมีข้าราชการคนหนึ่งไปยืมเงินญาติที่รักใคร่มาโดยเขาไม่คิดดอกเบี้ย มีเมื่อไหร่ค่อยใช้คืน หนี้ก้อนนี้ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินหรือไม่

2. หากการมีหนี้สินต้องแสดงบัญชี ดังนั้นการยืมของแพงจำนวนมากและต้องใช้คืนย่อมไม่ต่างกับการเป็นหนี้ จริงหรือไม่

3. ป.ป.ช. มีข้อมูลไหมว่านาฬิกาทั้ง 22 เรือนนั้น แต่ละเรือนยืมมาช่วงเวลาไหน ยืมนานแค่ไหน เรือนไหนบ้างที่ยังสวมใส่อยู่แม้คนที่ถูกอ้างว่าเป็นเจ้าของเสียชีวิตไปแล้ว

4. เรื่องนี้ต่างอย่างไรกับกรณีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อมที่ถูกสืบเสาะหาข้อมูลจนเอาเขาติดคุกแม้จะอ้างว่ารถตู้ที่เป็นหลักฐานนั้น “ยืมเขามา” เช่นกัน

ตั้งแต่เริ่มเป็นข่าวอื้อฉาว ผมไม่เคยได้ยินจาก ป.ป.ช. เลยว่า เรื่องนี้เข้าข่ายความผิดหรือกำลังถูกตรวจสอบในข้อหาใดบ้าง และในวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา ป.ป.ช. ก็จบการแถลงข่าวว่า “ไม่มีมูลเพียงพอ ให้ยุติเรื่อง” แต่โชคดีที่มีนักข่าวถามขึ้นมาว่า ไม่มีความผิดเรื่องการรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์จากบุคคลอื่นเกินกว่า 3 พันบาทตาม ม.128 ด้วยใช่หรือไม่ คำตอบคือ “ประเด็นที่ถามนั้น อีกคณะทำงานหนึ่งยังทำไม่แล้วเสร็จ” พฤติกรรมเช่นนี้ดูเหมือน ป.ป.ช. ต้องการปล่อยให้สังคมเข้าใจว่าเรื่องนาฬิกาหรูนี้จบแล้ว ทำให้เกิดข้อกังขาทันทีว่า “ยังมีประเด็นอื่นที่ประชาชนยังไม่รู้อีกหรือไม่”

คดีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้อง พอถึงศาลฎีกายังเปลี่ยนเป็นลงโทษจำคุกได้ น่าเสียดายคดีนาฬิกาหรูที่ทำร้ายความรู้สึกประชาชนมากขนาดนี้กลับไปไม่ถึงมืออัยการและศาลยุติธรรม แต่ยังน่ายินดีที่มี 3 เสียงกรรมการ ป.ป.ช. ทัดทานอยู่แม้ไม่สำเร็จ

คำตัดสินครั้งนี้จะกลายเป็นมาตรฐานและวัฒนธรรมใหม่ ห่วงก็แต่ ป.ป.ช. สถาบันหลักในการต่อต้านคอร์รัปชันของชาติว่าจะรักษาศรัทธาประชาชนได้แค่ไหน

มติชนออนไลน์