การเลือกตั้ง 2562 : เหตุใด คำสั่ง คสช.97 และ 103/2557 ไม่ถูกรวมกลุ่มปลดล็อกด้วย?

วันที่ 12 ธันวาคม 2561 คำสั่งที่ 22/2561 ที่ คสช.ประกาศเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมาให้ยกเลิกคำสั่งและข้อห้ามในคำสั่งที่เกี่ยวข้องจำนวน 9 ฉบับ นับเป็นอีกก้าวย่างในช่วงที่การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 กำลังใกล้เข้ามา แต่กระนั้นบรรยากาศที่นำไปสู่การเลือกตั้งที่ผ่อนคลายหลังคำสั่งดังกล่าว ยังคงมีคำสั่งบางฉบับที่อาจเป็นข้อจำกัดให้กับบรรดาสื่อมวลชนในการทำข่าวในช่วงเลือกตั้งด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำสั่งที่ 97/2557 และ 103/2557 (รวมกับข้อที่ 5 ในคำสั่งที่ 3/2558) ที่ทำให้เกิดคำถามถึงขอบเขตในการรายงานข่าวสารช่วงเลือกตั้งและสะท้อนถึงตัวชี้วัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมของไทย

 

ย้อนดูคำสั่ง คสช.ที่ 22/2561 ปลดล็อกสู่การเลือกตั้ง?

วันที่ 11 ธันวาคม 2561 คำสั่งยกเลิกคำสั่ง 9 ฉบับนี้ เกิดขึ้นในห้วงเดียวกับที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ หลังจากประกาศไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาและครบ 90 วัน อีกทั้งการประชุม 3 ฝ่าย คือ กกต.- คสช.และพรรคการเมืองกว่า 80 พรรคที่สโมสรกองทัพบกได้ทำให้การเลือกตั้งตามที่ประกาศย้ำว่าเป็นไปตามโรดแมปมีความชัดเจนและหนักแน่นมากขึ้น แม้จะมีบางความเห็นกังวลว่าความชัดเจนอาจไม่รับประกันได้ว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามกำหนดหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน

บรรดาคำสั่ง 9 ฉบับที่คสช.ได้ออกคำสั่งตามอำนาจในมาตรา 265 ในรธน.60 ร่วมกับมาตรา 44 ในรธน.ชั่วคราว 2557 เพื่อยกเลิกนั้น ล้วนเป็นคำสั่งที่เคยใช้จัดการนักการเมือง นักเคลื่อนไหวที่ชื่อของแต่ละคนเกือบทั้งหมดอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาล คสช. ไม่ว่าการเข้าควบคุมตัวผู้เกี่ยวข้องในช่วงการรัฐประหาร การจำกัดการทำกิจกรรมทางการเมือง การระงับและอายัดการทำธุรกรรมทางการเงิน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ที่นี่)

อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อยกเว้นบางประการที่ยังคงให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดคำสั่งในช่วงก่อนที่จะยกเลิกคำสั่งต่อไป ซึ่งกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่าปลดล็อกไม่สุดทาง หรือ คสช.ยังคงเห็นฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นศัตรูทางการเมืองที่ต้องถูกลงโทษให้เข็ดหลาบ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านคำสั่ง คสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 เครื่องมือจำกัดเสรีภาพสื่อ 

สำหรับคำสั่งที่ 97/2557  เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ซึ่ง คสช.ได้ออกคำสั่งนี้เพื่อควบคุมการนำเสนอข่าวเพื่อให้ทุกสำนักข่าวต้องปฏิบัติตามและเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องให้กับสังคม ไม่เกิดให้เกิดความขัดแย้งหรือบิดเบือนอันกระทบต่อความรักษาความสงบเรียบร้อย โดยข้อที่มุ่งในการจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวได้แก่ ข้อ 2 และ 3 ซึ่งบุคคลใดไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืน ข้อ 2 และ 3 (ข้อ 4) ให้ระงับการจําหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที และยังถูกดำเนินคดีอีกด้วย

อ่านคำสั่ง คสช.ที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ที่นี่

ส่วน คำสั่งที่ 103/2557 เป็นเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 โดยแก้ไขข้อ 3 (3) ในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.ที่มีเจตนา “ไม่สุจริต” และด้วย “ข้อมูลอันเป็นเท็จ” เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ ซึ่งทำให้เกิดคำถามในเรื่องที่ว่า “ความไม่สุจริต” นั้น ไม่สุจริตกับข้อเท็จจริงหรือกับใคร หรือ “ข้อมูลอันเป็นเท็จ” นั้น เป็นความเท็จในเนื้อหานั้นๆหรือเนื้อหานั้นส่งผลกับใครจนทำให้ชี้ว่าเป็นข้อมูลเท็จ และแก้ไขข้อ 5 ที่จากเดิมจะให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินคดี แต่ส่งเรื่องดังกล่าวให้องค์กรวิชาชีพของสื่อเป็นผู้ดำเนินการแทน

อ่านคำสั่ง คสช.ที่ 103/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ที่นี่

เสรีภาพพรรคการเมือง-ประชาชน และ “สื่อมวลชน” เป็นสิ่งเดียวกัน

นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และบก.เว็บไซต์ประชาไท ได้ให้ความเห็นต่อการมีอยู่ของคำสั่งนี้ว่า เป็นความตั้งใจของ คสช.ที่จะไม่ปลดล็อกสื่อ รวมทั้งตั้งใจไม่ปลดล็อก(สิทธิเสรีภาพ)ของประชาชนด้วย เพราะว่า 1. ตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็ไม่มั่นใจ 2. เพื่อชิงความได้เปรียบในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง

“โมเดลของการจัดการ(ควบคุมสื่อ)แบบนี้ มีความคล้ายคลึงกับการควบคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในช่วงทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อควบคุมการหาเสียงของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้มีข้อจำกัด เพื่อชิงโอกาส การไม่ได้ปลดล็อกสื่อและไม่ได้ปลดล็อกสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ยังต้องถูกดำเนินคดีอยู่ (คำสั่งที่ 22/2561) มันสะท้อนว่าเรายังไม่ได้เข้าสู่รูปแบบการแข่งขันที่เป็นเสรีและเป็นประชาธิปไตย เรื่องแบบนี้สื่อเองก็ต้องตระหนักด้วยว่า เสรีภาพของพรรคการเมืองเป็นเรื่องเดียวกับเสรีภาพประชาชนและของสื่อมวลชน ถ้าพรรคการเมืองไม่ตระหนักเรื่องนี้ เสียงของพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ก็จะถูกจำกัดอยู่ดี” นายชูวัส กล่าว

ทั้งนี้ นายยิ่งชีพ อัชชานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ได้เปิดเผยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่ง คสช.แต่งตั้งนั้น ได้ดำเนินการเรียกสื่อเข้าพบและลงโทษสื่อไปแล้ว 52 ครั้ง จากการนำเสนอข่าวการเมือง

ซึ่งวอยซ์ทีวี ถูก กสทช. ทั้งเรียกพบและลงโทษตั้งแต่ปรับจนถึงระงับออกอากาศมากที่สุดถึง 19 ครั้ง

จากภาวะดังกล่าว ส่งผลทำให้ปีนี้เป็นครั้งแรกที่องค์กรสื่อของไทยทั้ง 3 องค์กร ร่วมรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งที่จำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว