“อภิสิทธิ์” ชู นโยบายกระจายอำนาจท้องถิ่น ชี้ เริ่มถดถอย-อ่อนแอ ผู้มีอำนาจไม่สนใจ

“อภิสิทธิ์” ชู นโยบายกระจายอำนาจท้องถิ่น พร้อมประชันวิสัยทัศน์พรรคการเมืองอื่น มั่นใจจะเป็นทางรอดของประเทศได้

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่โรงแรม เดอะสุโกศล ถนนศรีอยุธยา พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จัดเสวนาหัวข้อ “ทศวรรษหน้า ท้องถิ่นไทย” โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคปชป. กล่าวเปิดเสวนาในหัวข้อ “ทศวรรษหน้าท้องถิ่นไทย” ตอนหนึ่งว่าเรื่องการกระจายอำนาจ ที่จำเป็นต่อของอุดมการณ์ ความหลักคิด ความเชื่อ ไม่ใช่เรื่องแค่ทางเทคนิค ใครที่พยายามมองเป็นเรื่องเทคนิค สุดท้ายถ้าไม่มีนโยบายสนับสนุนการกระจายอำนาจก็ไปไม่ได้ เช่น 4 ปีที่ผ่านมา บอกว่าจะมีการปฏิรูปประเทศ แต่ถ้าไม่มีความเชื่อเรื่องอุดมการณ์ ทำให้การกระจายอำนาจจะไม่เดินหน้าเลยขอย้ำว่าการกระจายอำนาจไม่ใช่แค่เรื่องท้องถิ่น แต่เป็นเรื่องของประเทศ โดยเฉพาะสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย วันนี้มีการวิจารณ์ทุกเรื่อง สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไปคือโครงสร้างการกระจายอำนาจขาดไป จึงทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงอยู่ทุกวันนี้

“เราเห็นความพยายามแก้ปัญหาส่วนกลางอย่างเดียว ที่ไม่สามารถตอบโจทย์สังคมได้ ปรากฎการณ์หว่านเงินลงไปแสนล้าน แต่ปรากฎว่าโครงสร้างที่ขาดการกระจายอำนาจไม่ได้หมุนอยู่ในชุมชน แต่เงินถูกดูดกลับมาศูนย์กลางของผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ถ้าท้องถิ่นไม่มีอำนาจมาจัดการตนเอง และยังไม่สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจชุมชนได้ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยก ความเหลื่อมล้ำสูง อาจเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมา การกระจายอำนาจท้องถิ่นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้เรากำลังเริ่มต้นเข้าสู่การกระจายอำนาจที่ถดถอย เพราะแนวคิดของผู้มีอำนาจไม่ได้เชื่อเรื่องนี้ มีเรื่องที่หยิบมาสะกัดกั้นเรื่องนี้คือมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้นักการเมืองระดับชาติ และท้องถิ่นกลายเป็นผู้ร้ายอยู่ในสายตา และถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการไม่กระจายอำนาจ หรือ ทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ นี่ไม่ใช่เรื่องที่ถูก การจัดงบประมาณจากภาษี ที่จะต้องมีอัตราคำนวณว่าแต่ละท้องถิ่นควรจะได้รับงบประมาณเท่าใด มากกว่าการใช้ดุลยพินิจจากส่วนกลาง ที่ผ่านมามีการใช้มาตรา 44 กับท้องถิ่นเยอะมาก แต่ในระยะหลังคนที่เลวร้ายทั้งหลายโดนมาตรา 44 ในช่วง 1-2 ปีแรก สามารถมาเป็นคนดีได้ ถ้ามาสังกัดพรรคการเมือง

“เราต้องใช้หัวใจปลดล็อกเรื่องอำนาจก่อน และกฎหมายท้องถิ่นควรเขียนว่า ไม่ให้ทำอะไร แต่ที่เหลือต้องทำได้หมด เช่น การป้องกันประเทศ ,การจัดทำงบประมาณ และสร้างกระบวนการยุติธรรมของตัวเอง โดยงานด้านพัฒนาสามารถให้ท้องถิ่นทำได้ทุกด้าน โดยไม่ต้องรอนโยบายจากส่วนกลาง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ และการแก้ปัญหา นโยบายการกระจายอำนาจของพรรคปชป. น่าจะตอบโจทย์ในการรื้อระบบท้องถิ่นให้ยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง มากกว่านโยบายของพรรคอื่น ๆ ที่ได้ยินจากการประชันวิสัยทัศน์บนเวทีเสวนาต่าง ๆ และยืนยันว่า ผมและพรรคมีความพร้อม ทั้งในแง่ประเด็น และข้อกฎหมาย และยังมีจำนงค์ที่แน่วแน่ ซึ่งแม้จะมีแรงต่อต้านจากพื้นที่ก็ตาม เพราะถือเป็นทางรอดของประเทศ” หัวหน้าพรรคชป. กล่าว

มติชนออนไลน์