องค์กรสิทธิฯจี้คสช.ยกเลิกจำกัดสิทธิทั้งหมด หลังออกคำสั่งปลดล็อกบางส่วน

วันที่ 12 ธันวาคม 2561 ฮิวแมนไรท์ วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ รัฐบาลทหารไทย ควรยุติมาตรการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกโดยทันที เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งระดับชาติที่น่าเชื่อถือในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้ยกเลิกข้อห้ามต่อการชุมนุมสาธารณะและการดำเนินงานทางการเมือง เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลทหารยังคงบังคับใช้คำสั่งควบคุมการแสดงออก และมีอำนาจในการควบคุมตัวและดำเนินคดี กรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร วิจารณ์นโยบายและการดำเนินงาน และวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยบรรดาคดีอาญาต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลทหารและศาลพลเรือน อันเป็นผลมาจากการต่อต้านระบอบปกครองของทหาร ยังคงเดินหน้าต่อไป

“ประเทศไทยไม่สามารถจัดการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือได้ เมื่อพรรคการเมือง สื่อมวลชน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงถูกคุกคามด้วยการจับกุมและการฟ้องคดีอาญา” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “เหลืออีกสองเดือนก่อนจะถึงการเลือกตั้ง รัฐบาลทหารไทยควรยกเลิกคำสั่งทางกฎหมาย ซึ่งควบคุมจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกทั้งหมด”

สำหรับประเทศไทย นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารไทยได้ใช้อำนาจตีความอย่างกว้างขวางและโดยพลการต่อการวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความเห็นต่างอย่างสงบ โดยถือว่าเป็นความผิดฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ยุยงปลุกปั่น และเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว เป็นเวลากว่าสี่ปีแล้วที่รัฐบาลทหารได้เซ็นเซอร์สื่อ และปิดกั้นการอภิปรายสาธารณะ เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยอย่างสม่ำเสมอ ในวันที่ 1 ธันวาคม ทางการไทยได้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บเพจที่เป็นหน้าข้อมูลของฮิวแมนไรท์วอทช์ประเทศไทย โดยกล่าวหาว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสมและเป็น “ภัยต่อความมั่นคง”

กว่าสี่ปีภายใต้ระบอบทหาร ทางการไทยได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักกิจกรรมและผู้เห็นต่างจากรัฐบาลหลายร้อยคน โดยตั้งข้อหาอาญาร้ายแรงรวมทั้ง ยุยงปลุกปั่น, การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นผลมาจากการแสดงความเห็นอย่างสงบ ตั้งแต่ต้นปี 2561 นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยกว่า 100 คนถูก ดำเนินคดี เนื่องจากเรียกร้องอย่างสงบให้รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งตามที่สัญญาเอาไว้ ไม่ให้มีการเลื่อนอีกต่อไป และให้ยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งหมด

ในเดือนสิงหาคม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกดำเนินคดีฐานละเมิดพระราชบัญญัติการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษจำคุกห้าปี เนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารทางอินเตอร์เน็ต นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และแกนนำคนอื่น ๆ ของพรรคเพื่อไทย ต่างถูกดำเนินคดีซ้ำกันหลายครั้ง ในข้อหายุยงปลุกปั่นและการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ อันเนื่องมาจากการแสดงความเห็น รวมทั้งในโซเชียลมีเดีย เพื่อต่อต้านระบอบปกครองของทหาร

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและการเมืองระดับท้องถิ่น แสดงข้อกังวลต่อฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า การสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างเป็นอิสระไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้สภาพที่เป็นอยู่ โดยทางการไทยมัก ตอบโต้ด้วยการดำเนินคดีอาญา ทั้งในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาและความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยเป็นการเอาผิดกับทุกคนที่กล่าวหาว่ารัฐสนับสนุนการปฏิบัติมิชอบและเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติมิชอบเอง รัฐบาลทหารยังได้ใช้กำลังปิดกั้นความพยายามในการสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 และได้ดำเนินคดีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานดังกล่าวหลายคน

การเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในประเทศไทย เกิดขึ้นในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงมีอำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบและความรับผิด รวมทั้งความผิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยจะมีอำนาจเช่นนี้ไปจนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลทหารและองค์กรอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะเป็นหลักประกันการสืบทอดอำนาจของกองทัพต่อไป แม้หลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว

หลังรัฐประหารปี 2557 สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศกำหนดเงื่อนไขในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศไทย รวมทั้งการที่จะต้องมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เพื่อจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตย และการเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพื่อให้การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับกระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง บรรดามิตรประเทศต่าง ๆ ควรกดดันรัฐบาลทหารให้:

• ยุติการใช้อำนาจอย่างมิชอบและปราศจากความรับผิดตามมาตรา 44 และ 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557
• ยุติการควบคุมจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก
• ประกันว่าพรรคการเมืองและผู้สนับสนุนสามารถเข้าร่วมการรณรงค์หาเสียงอย่างสงบ
• ให้ปล่อยตัวทุกคนที่ถูกควบคุมตัว เนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างสงบ
• ยกเลิกการดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นและข้อหาอาญาอื่น ๆ อันเนื่องมาจากการต่อต้านอย่างสงบต่อระบอบปกครองของทหาร
• ให้ศาลทหารส่งมอบคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาต่อพลเรือนทั้งหมด เข้าสู่การพิจารณาของศาลพลเรือน ที่มีกระบวนการพิจารณาสอดคล้องกับมาตรฐานการพิจารณาที่เป็นธรรมระหว่างประเทศ
• คุ้มครองให้เกิดเงื่อนไขที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนต่อการดำเนินงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยกเลิกการดำเนินคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และคดีปิดปากที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และ
• อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งที่เป็นอิสระและไม่ลำเอียง สามารถสังเกตการณ์ระหว่างการรณรงค์หาเสียงและการจัดการเลือกตั้งได้อย่างเสรี และสามารถเผยแพร่รายงานต่อสาธารณะได้

“การคลายล็อคแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ของรัฐบาลทหาร ซึ่งเปิดให้มีเสรีภาพขั้นพื้นฐานอยู่บ้าง ถือว่ายังไม่เพียงพอ” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลต่างชาติ ที่ต้องการให้เกิดการฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย ควรประกาศอย่างเปิดเผยว่า จะยอมรับการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเท่านั้น”