กกต.แถลงแล้ว! ไทม์ไลน์ปฏิทินเลือกตั้ง เผย24 ก.พ. 4 ทุ่ม รู้คะแนนไม่เป็นทางการ

กกต.แถลงไทม์ไลน์ปฏิทินเลือกตั้ง เผย ถ้ามีพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 2-4 ม.ค. เลือกตั้ง 24 ก.พ. แน่ พร้อมรู้คะแนนไม่เป็นทางการ 4 ทุ่ม ระบุ ปมบัตรเลือกตั้ง รอกกต.ตัดสินใจ ก่อนเริ่มพิมพ์บัตร 52 ล้านฉบับ 20 ม.ค. 62 เหน็บพรรคการเมืองอยากได้เบอร์เดียวทั่วประเทศกฎหมายเปิดช่องให้คุย-ตกลงกันได้

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายณัฎฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ภายหลังหารือร่วมกับแม่น้ำ 5 สายในวันที่ 7 ธันวาคม และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ในวันนี้ ว่า ปฏิทินไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)การเลือกตั้ง ประกาศออกมาในวันที่ 2 มกราคม 2562 ในวันที่ 4 มกราคม 2562 กกต.จะประกาศกำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นวันเลือกตั้ง และวันที่14 – 18 มกราคม 2562 เป็นวันสมัครรับเลือกตั้งส.ส. และกำหนดวันลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในและนอกราชอาณาจักรพร้อมกัน คือตั้งแต่วันที่ 10-24 มกราคม 2562 และการใช้สิทธินอกราชอาณาจักรให้สถานทูตและสถานกงสุลเป็นผู้กำหนด แต่วันสุดท้ายจะเป็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 เนื่องจากต้องนำบัตรกลับมานับพร้อมกับบัตรลงคะแนนล่วงหน้าในประเทศในหน่วยเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นโดยจะนับหลังปิดการลงคะแนนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

นายณัฎฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งนั้น ทางสำนักงานเตรียมไว้ 2 รูปแบบ คือบัตรที่มีความพร้อมสมบูรณ์ ทั้งหมายเลข ชื่อ และโลโก้พรรค และบัตรที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัครอย่างเดียว ซึ่งจะรวบรวมข้อดี ข้อเสีย เสนอต่อกกต.ภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะนำรูปแบบที่กกต.เลือกและการกำหนดระบบรักษาความปลอดภัยของบัตรใส่ในทีโออาร์เพื่อหาผู้รับจ้างจัดพิมพ์ หากกกต.เลือกรูปแบบบัตรสมบูรณ์ หลังปิดรับสมัครสำนักงานฯจะสรุปข้อมูลผู้สมัครทั้ง 350 เขต ส่งไปยังผู้จัดพิมพ์ ซึ่งบัตรแต่ละเขตจะมีจำนวนผู้สมัครแตกต่างกัน โดยประมาณไว้ว่าในจังหวัดที่มีผู้สมัครมากที่สุดอาจมีถึง 60 หมายเลข และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการปลอมแปลงจะพิมพ์ที่ส่วนกลางทั้งหมด โดยโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพสามารถพิมพ์บัตร 52 ล้านฉบับ การจัดพิมพ์ผู้จัดพิมพ์จะเริ่มพิมพ์ในวันที่ 20 มกราคม 2562 และคาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 2 วันจะส่งบัตรล็อตแรกไปยังสถานทูตและสถานกงสุล ซึ่งจะรอการปิดยอดลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในวันที่ 24 มกราคม 2562 คาดว่าการนำส่งบัตรจะแล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 26 มกราคม 2562 และเตรียมที่จะหารือกับกระทรวงการต่างประเทศในการตั้งประเทศเซ็นเตอร์ เพื่อนำส่งบัตรสำรองให้กับผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิที่อาจไม่ได้รับบัตรในรอบแรก

นายณัฎฐ์ กล่าวอีกว่า การจัดส่งบัตรไปยัง 350 เขต ก็ไม่ต้องห่วงเรามีระบบจีพีเอสติดตาม จะแสดงสถานะปัจจุบันว่าการขนส่งอยู่ที่ใด และเรามีเลขที่ลำดับของกล่องบัตรคอยควบคุม ไม่ต้องเป็นห่วง เรื่องบัตรมีปัญหาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบสองขาหรือแถวเดียว ซึ่งกกต.ต้องพิจารณาตัดสินใจ ที่ผ่านมามีการร้องถึงขั้นช่องกาบัตรของพรรคอยู่ใกล้กับช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ซึ่งจริงๆแล้ว เรามองข้ามประชาชน ประชาชนเขาไม่ได้เป็นอย่างที่วิจารณ์เขารู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะเลือกใคร จะลงคะแนนให้ใคร โดยเฉพาะผลสำรวจที่พบว่าประชาชนในชนบทตื่นตัวมากกว่าคนในชุมชนเมือง อยากให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายไปถามประชาชน เพราะสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือใกล้เลือกตั้งแล้ว แต่ยังไม่อ่านข้อกฎหมายให้ละเอียด

นายณัฎฐ์ กล่าวต่ออีกว่า เมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 กกต.จะทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าบ้าน โดยมีรายละเอียดของรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งจะมีข้อมูลผู้สมัครในเขตที่ผู้สิทธิเลือกตั้งจะใช้สิทธิ และจัดทำแอพพลิเคชั่น “ฉลาดเลือก” ซึ่งผู้มีสิทธิกรอกหมายเลขประจำตัว 13 หลัก ก็จะทราบข้อมูลพรรคการเมือง นโยบาย และผู้มีสิทธิ ตามที่ผู้มีสิทธิมีสิทธิอยู่ และในวันเลือกตั้ง ในหน่วยเลือกตั้งจะติดรายชื่อผู้สมัคร หมายเลข โลโก้พรรค และชื่อพรรคไว้ในคูหา เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลครบถ้วนในวินาทีสุดท้าย มั่นใจได้ว่ากาถูกตัว ถูกพรรค และลดข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนเรื่องของการรายงานผล มีการจัดทำแอพพลิเคชั่นรายงานผล ซึ่งประธานกรรมการประจำหน่วยจะรายงานผลคะแนน 95 เปอร์เซ็นต์ หลังปิดลงคะแนนในเวลา 17.00 น. และคาดว่าไม่เกิน 22.00 น. สำนำงานสามารถสรุปผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้ หากคำนวณเป็นก็จะรู้ทันทีว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

“การที่ผู้สมัครแต่ละพรรคในแต่ละเขตจะไม่ได้เบอร์เดียวกัน กกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ซึ่งในทางปฏิบัติหากพรรคการเมืองอยากให้ผู้สมัครของพรรคใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ ก็คุยกันได้ กฎหมายก็เปิดช่องให้ตกลงกันได้ ทำได้ไม่ยาก วันที่ 19 ธันวาคม ซึ่งกกต.เชิญประชุมเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งก็คุยตกลงกัน ถ้าตกลงกันได้วันสมัครก็ไปแจ้งว่าจะขอใช้เบอร์พรรคตกลงกันที่กรุงเทพฯ แต่ปัญหาจะอยู่ที่พรรคซึ่งไม่ได้ส่งครบทั้ง 350 เขต หมายเลขบนบัตรจะเป็นฟันหลอทันที ก็จะเกิดคำถามย้อนกลับมาที่สำนักงานกกต.ว่าบริหารจัดการอย่างไร เวลาคนตั้งคำถามง่ายแต่ไม่ได้หาคำตอบเอาไว้ให้ด้วย องคาพยพทั้งหมดไม่ได้เบ็ดเสร็จที่กกต. กกต.ไม่ปิดกั้น” รองเลขาธิการกกต. กล่าว

นายณัฎฐ์ กล่าวด้วยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ใช้บังคับแล้ว ในวงงานของกกต.ถือว่าเริ่มทำงานแล้ว แต่ขณะนี้ยังมีคำสั่งคสช.บังคับใช้อยู่ พรรคการเมืองจึงยังทำอะไรไม่ได้ ซึ่งในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย นายวิษณุ เครืองาม ยืนยันว่า ภายในเดือนธันวาคมจะยกเลิกคำสั่งคสช.ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง 9 ฉบับ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อใด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว การที่พรรคจะทำอะไรที่มีผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม กฎหมายให้เอาข้อเท็จจริงนั้นไปบวกกับการเลือกตั้งในอนาคตที่จะมีขึ้นหลังมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง และสามารถนำไปพิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต จึงไม่ใช่ว่าเมื่อยังไม่มีพรฎ.เลือกตั้งแล้วพรรคการเมืองจะทำอะไรก็ได้ ที่กฎหมายกำหนดว่าให้การหาเสียงนับแต่มีพ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง เป็นเรื่องหาเสียงที่ต้องนำมาคำนวณค่าใช้จ่าย ซึ่งผลของการหารือร่วมกับพรรคการเมืองในวันที่ 19 ธันวาคม จะเป็นตัวกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงว่าควรเป็นเท่าไร

“เราจะพูดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งแล้ว เพราะกกต.มีอำนาจประกาศกำหนดวันเลือกตั้งหลังมีพ.ร.ฎ. ซึ่งประธานกกต. ก็ปรารถนาให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ไม่อยากให้เลื่อนอีกแล้ว ซึ่งจากการหารือรัฐบาลก็กำหนดให้มีพ.ร.ฎ.เลือกตั้งในวันที่ 2 มกราคม 2562 แต่ขยับได้ถึงวันที่ 4 มกราคม 2562 แต่ถ้าถามถึงปัจจัยที่จะเป็นเหตุให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป ยังไม่สามารถตอบได้”รองเลขาธิการกกต. กล่าว

 

มติชนออนไลน์