“ธีรยุทธ” วิพากษ์พฤติกรรมเลือกตั้งก๊อปปี้ระบบทักษิณ ชี้บิ๊กตู่ประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการสาธารณะ กล่าวปาฐกถา 45 ปี 14 ตุลา ครั้งที่ 4 “มองปัญหาประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมือง” ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนินกลาง ว่า ถ้าจะมองวิกฤตการเมืองใหม่ วิกฤตการเมืองไทยอาจจะเกิดจากความพยายามของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่จะสถาปนาอำนาจของตนเอง ก่อนเกิดวิกฤตการเมืองไทยมีเหตุการณ์เกิดขึ้น 2 อย่างคือการปฏิรูปการเมืองปี 2540 และวิกฤตต้มยำกุ้ง เกิดจากกระแสเสรีนิยมใหม่ในโลก ที่บังคับให้ไทยเปิดเสรีทางการเงิน

2 เหตุการณ์นี้ นำไปสู่แนวคิดใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา เช่น เกิดฉันทามติว่าการเมืองไทยคือการแตกแยกเป็นกลุ่มก๊วน ทางแก้คือออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ให้พรรคเข้มแข็งขึ้นและเป็นศูนย์กลางในการรวมกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยพลังที่จะมีศักยภาพมี 3 แบบ คือ 1.บุคคลที่มีบารมี 2.กองทัพ และ 3.กลุ่มทุนใหญ่ ที่สถาปนาตัวเองขึ้นมามีอำนาจ

กลุ่มแรกที่ทดลองใช้ คือ กลุ่มทุน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยก่อนที่จะมีการเลือกตั้งจะมีการคุยในหมู่พรรคพวกว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการซื้อเสียงเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล คำนวณเป็นธุรกิจ ซึ่งเกิดขึ้นจริง กลุ่มทุนใหญ่จัดการได้ในการที่จะเข้ามามีอำนาจรัฐ ซึ่ง ช่วง 10 กว่าปีที่บ้านเมืองวุ่นวาย มีการก่อตัวของกลุ่มทุนใหญ่เกือบ 10 กลุ่ม เช่น บางกลุ่มคุมสนามบิน บางกลุ่มคุมเครื่องดื่มทุกชนิด คุมพลังงาน คุมสินค้าเกษตร คุมการขายปลีกส่ง ฯลฯ กลุ่มทุนอิทธิพลใหญ่นี้มักเกิดขึ้นในประเทศที่ทุนนิยมพัฒนาอย่างรวดเร็วอย่างชัดเจน เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ รัสเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย นำไปสู่การเกิดการปกครองโดยตรง หรือโดยอ้อม โดยคนกลุ่มน้อยที่เป็นผู้มีอิทธิพล (Oligarchy)

นายธีรยุทธกล่าวว่า ส่วนคำถามที่ว่า คสช.ตั้งใจสืบทอดอำนาจหรือไม่ คำตอบคือ คสช.ตั้งใจสืบทอดอำนาจมานานแล้ว ตั้งแต่ล้มรัฐธรรมนูญฉบับประวัติศาสตร์ มาเป็นร่างฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ถือเป็นการตัดสินใจสืบทอดอำนาจตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ตั้งแต่ที่ให้พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯคนนอกได้ หรือให้อำนาจกับจำนวน ส.ว.ที่เพิ่มขึ้น 250 คน มีสิทธิเลือกนายกฯ หรือการเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ ตั้งใจอยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องสืบทอดอำนาจ

“ผมการันตีเกือบ 100% ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกฯ ต่อไป พรรคการเมืองก็ต้องต่อสู้กันไป แต่ยังไงก็มองว่ามันถูกออกแบบมาอย่างนี้” นายธีรยุทธกล่าว

นายธีรยุทธกล่าวว่า การเมืองไทยในอนาคตจึงเป็นประชาธิปไตยอิทธิพล เป็นการเมืองใต้เงื้อมมือทุนอิทธิพลได้ในที่สุด ดังนั้น คำขวัญที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” จึงหมายความว่า มั่นคง คือรัฐมั่นคง มั่งคั่ง คือธุรกิจใหญ่มั่งคั่ง ยั่งยืน คืออำนาจของกลุ่มนี้ยั่งยืน ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ คงจัดตั้งรัฐบาลนหน้าขึ้นได้ เพราะรูปแบบการประสานประโยชน์ระหว่างพลังทหาร ข้าราชการ กลุ่มอนุรักษ์ และกลุ่มทุนใหญ่ ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้ง คสช.ได้ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ เช่น ปปช. กกต. ปิดกั้นการตรวจสอบ คนมองการเมืองรู้สึกสะดุดกับปัญหานี้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 พยายามที่จะสร้างให้มีความน่าเชื่อถือพอสมควร แต่ตอนนี้ความน่าเชื่อถือลดลง  ความน่าเชื่อถือของ ปปช.ลดลงไปมากเมื่อมีคดีพี่ใหญ่ เรื่องนาฬิกา กกต. ก็เริ่มมีปัญหาเกิดขึ้น มีเสียงร่ำลือว่าจะเกิดอะไรต่างๆตามมา หวังว่าท่านที่อยู่ในองค์กรอิสระจะพยายามทำให้ดีขึ้น

นายธีรยุทธกล่าวว่า พฤติกรรมการเลือกตั้งไม่ต่างไปจากระบบทักษิณ คือมีการเอารัดเอาเปรียบก่อนเลือกตั้ง เช่น การดิสเครดิตนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยอำนาจรัฐประหารที่ตนมี จับกุม ดำเนินคดี หรือเรียกมาอบรม ไปจนถึงการแจกเงินคนจน คนแก่ ข้าราชการ ชาวไร่ ชาวสวน บัตรเครดิตคนจน แจกซิมฟรี อินเตอร์เน็ตฟรี ลดภาษี ช็อปช่วยชาติ ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ฯลฯ ผมตั้งข้อคิดว่า ให้ฟรี 2 อาทิตย์ก็ได้ แต่ทำไมให้ฟรี 4 เดือน จะทำให้คนรู้สึกคุ้นหรืออย่างไรมองว่า การเลือกตั้งปี 2562 ก็จะเป็นการประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล ไม่ใช่การซื้อเสียง คล้ายการเลือกตั้งปี 2542 ซึ่งพรรคของนายทักษิณก็ทำได้เก่ง เพราะประมูลเสียงจากชาวบ้านอย่างได้ผล มีการต่ออายุสัมปทานซ้ำหลายรอบ

“ผมขอวิงวอนว่า ในการการเลือกตั้งที่จะถึง อย่าให้สังคมสรุปว่า มีอำนาจต่างๆ ทำให้เกิดการโกงการเลือกตั้ง หรือเป็นการเลือกตั้งสกปรก แบบเดียวกับสมัยเผด็จการทหารปี 2500 เพราะผมมองไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยใดที่จะทำให้เกิดการชุมนุมในขณะนี้ นอกจากการชนะการเลือกตั้งที่มาจากการโกง”นายธีรยุทธกล่าว

นายธีรยุทธกล่าวว่า เชื่อว่าการเลือกตั้งที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะช่วยสร้างภาวะความแตกต่างอย่างปกติขึ้น ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย จะไม่มีใครใช้วาทกรรมนโยบายสุดขั้วมาหาเสียง เพราะถ้าใช้วาทกรรมสุดขั้วมาหาเสียงเมื่อไหร่ พรรคที่จะโกยคะแนนเสียงคือพรรคพลังประชารัฐ ที่รออยู่ว่า เพื่อไทยสุดขั้วเมื่อไหร่ คะแนนจะเข้ามาหาเขา นอกจากนี้ยังมองว่ามีมิติการเมืองใหม่อยู่ 4 อย่าง
1.โซเชียลมีเดีย ที่เครือข่ายสังคมออนไลน์มีพลังให้หน่วยงานการปกครองท้องถิ่น ตำรวจ ราชการ และรัฐบาล สนองตอบในหลายประเด็น เป็นความหวังในการปฏิรูปบางส่วน และต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้
2.ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ ที่ต่อรองทำให้เกิดอัตลักษณ์และพื้นที่ของตัวเอง เกิดการตั้งพรรคใหม่ เช่น พรรคอนาคตใหม่ มองเป็นพัฒนาการ อย่าไปมองว่าเป็นเด็กเสื้อแดงเก่า เขาจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ แต่นี่จะเป็นมุมมองใหม่ที่ทำให้เกิดพลัง เป็นโอกาสปรับตัวไปสู่สิ่งที่ดี
3.การขยายตัวพลังบวกของจิตอาสา ที่คนสมัยนี้มีความเป็นปัจเจกชน ต้องการทำดีตามที่ตัวเองชอบและสะดวก สะท้อนออกมาในช่วงงานพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 หรือการวิ่งของตูน บอดี้สแลม เป็นต้น ที่ทุกฝ่ายช่วยกันผลักดัน กลายเป็นพลังสำคัญของสังคมที่จะปฏิรูปตัวเองได้
4.การแตกตัวของพรรคเพื่อไทย เป็นปรากฏการณ์ที่ควรศึกษา เพราะพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงที่หนักแน่นกว่าพรรคอื่นมาเกือบ 2 ทศวรรษ การแตกออกเป็นพรรคย่อย ส่งผลทางโครงสร้างการเมืองที่ดีขึ้น และขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและบางครอบครัวลดลง

นายธีรยุทธกล่าวว่า หวังว่าพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และทุกพรรคจะพัฒนานโยบายให้สร้างสรรค์ที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องด้วย ก็จะทำให้การเลือกตั้งเดินหน้าไปด้วยดี มีโอกาสร่วมมือกันแก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้ารวมกันทำโดยแสดงเหตุผลที่เหนือกว่า อาจจะทำให้สำเร็จโดยไม่ต้องเผชิญหน้าปะทะรุนแรงกับฝ่ายทหารอีก

มติชนออนไลน์