จากเลือกตั้ง กุมภาพันธ์ 2500 มาสู่เลือกตั้ง กุมภาพันธ์ 2562

ทั้งๆที่สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นสถานการณ์การเลือกตั้งในยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เหตุใดจึงมีการรื้อฟื้นไปยังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2500

ทั้งๆที่การเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2500 อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2494

ขณะที่ปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ขณะที่เลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2500 เป็นยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยที่เลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงแต่ลักษณะ “ร่วม” ของนัยประหวัดเนื่องจากเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2500 เป็นการเลือกตั้ง “สกปรก”

นี่คือจุดน่าเป็นห่วงต่อเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ข้อเสนอว่าด้วยการตัดชื่อ ตัดโลโก้พรรคออกจาก “บัตรเลือกตั้ง” ในที่ประชุมร่วมคสช.กับพรรคการเมืองกว่า 80 พรรค คือ รากฐานความวิตกในทางการเมือง

เมื่อกกต.ทำท่าจะขานรับโดยอ้างถึงข้อดีที่สามารถแก้ปัญหาการขนส่งไปยังต่างประเทศ

ไม่ว่าจะจากระดับ “รอง” หรือตัว “เลขาธิการ”

ขณะที่พรรคการเมืองมีความรู้สึกว่า กระบวนการพิมพ์บัตรเลือกตั้งเช่นนี้จะยิ่งสร้างความสับสนจากความสับสนที่มีอยู่แล้วโดยบทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญ” และพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.

ยิ่งเมื่อเป็นข้อเสนอซึ่งมาจากคนนั่งหัวโต๊ะในที่ประชุมร่วม ยิ่งก่อความรู้สึกหวาดระแวง แคลงใจ

ถึงกับสรุปไปในเชิงว่าเอื้อประโยชน์ต่อบางพรรคการเมือง

ยิ่งเมื่อมีการเรียงลำดับกระบวนการตั้งแต่รัฐประหาร การแต่งตั้ง “แม่น้ำ 5 สาย” การออกประกาศและคำสั่งคสช.กระทั่งการยกร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ความหวาดระแวงต่อ “คสช.” และต่อ “กกต.” ยิ่งพุ่งขึ้นสูง

ปมเงื่อนอันเป็นลักษณะ “ร่วม” จากการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2500 กับ การเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คือ ความต้องการในการสืบทอดอำนาจ

จอมพล ป.พิบูลสงคราม และคณะแห่งพรรคเสรีมนังคศิลาจึงกล้ากระทำการอัน “สกปรก” โดยไม่รู้สึกละอาย

“อำนาจ” และความต้องการ “สืบทอด” จึงเป็นเรื่องน่ากลัว

ไม่ว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2500 หรือเดือนกุมภาพันธ์ 2562

มติชนออนไลน์