‘อนาคตใหม่’ เล็ง 16 ธ.ค.แถลงนโยบาย ชู 12 วาระ เปลี่ยนอนาคตประเทศ

วันที่ 7 ธันวาคม 2561 เมื่อเวลา 20.00 น. พรรคอนาคตใหม่จัดรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ผ่านทางเพจ Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในประเด็นเกี่ยวกับการไม่เข้าร่วมประชุมหารือการเลือกตั้ง ที่จัดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับความพร้อมของพรรคที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ร่วมดำเนินรายการ

นายธนาธร กล่าวถึงการที่พรรคอนาคตใหม่ไม่เข้าร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ คสช. เชิญทุกพรรคการเมืองเข้าร่วมประชุม ว่า คสช.ไม่มีความชอบธรรมในการจัดประชุมในครั้งนี้ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ก็กำลังจะถูกเสนอชื่อ เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ ลงเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่การที่ คสช. เชิญทุกพรรคการเมืองมารับฟังและชี้แจงขั้นตอนการเลือกตั้ง ถือเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ แต่ไม่ว่ากฎกติกาการเลือกตั้ง กรรมการไม่ได้เป็นกลาง พรรคอนาคตใหม่พร้อมจะสู้ในกฎในกติกาที่ไม่เป็นธรรม อยากให้ประชาชนทุกคนมาร่วมส่งเสียงพร้อมกับเราว่า พอกันทีกับคณะรัฐประหาร พรรคอนาคตใหม่กับประชาชนจะจับมือกัน เพื่อเอาชนะ คสช. ในกฎที่เขาออกมาเอง

“สำหรับความพร้อมของพรรคอนาคตใหม่ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 นั้น ปัจจุบัน เรามีสมาชิกผู้ลงรับสมัครรับเลือกตั้งเกือบครบ 350 เขตแล้ว พรรคอนาคตใหม่ไม่เคยซื้อ ส.ส. แต่ทุกคนเข้ามาร่วมเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ มีหัวใจประชาธิปไตย และทั้ง 350 คน ของพรรคอนาคตใหม่แทบไม่เคยลงเล่นการเมืองมาก่อน แต่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง ส.ส.ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ด้วย
สำหรับแนวนโยบายที่ชัดเจนคือ คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก โดยเราจะสร้างประเทศ ด้วยวิธีการสร้างบ้าน นั่นคือเริ่มต้นด้วยการสร้างฐานแห่งความมั่นคง 3 เรื่อง ได้แก่ การศึกษา การกระจายอำนาจ และ รัฐสวัสดิการ นี่คือฐานที่มั่นคงสำหรับบ้านที่อนาคตใหม่จะสร้างให้กับประเทศ

ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ กล่าวเสริมในประเด็นเดียวกันว่า เมื่อมีฐานที่มั่นคงแล้ว ก็จะมี 8 เสาหลักของบ้าน ได้แก่ 1.ทำลายทุนผูกขาดและระบบอุปถัมภ์ 2.การคมนาคมและอุตสาหกรรมรถไฟ 3.เกษตรก้าวหน้า 4.เศรษฐกิจแห่งอนาคตเพื่อประชาชน 5.ต่อต้านคอร์รัปชั่นเปิดเผยโปร่งใส 6.สังคมเสมอภาคเพื่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ผู้พิการ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี 7.สิ่งแวดล้อม และ 8.ปฏิรูปกองทัพ เพื่อนำไปสู่ธงใหญ่ของพรรคอนาคตใหม่ด้วย คือ ประชาธิปไตย ผ่านแนวนโยบายอีก 1 เรื่อง นั่นคือแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและล้มล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำภายใต้วิสัยทัศน์ซึ่งเปรียบเป็นหลังคาบ้านของประเทศอย่าง คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก นั่นเอง โดยพรรคอนาคตใหม่จะจัดงานแถลงนโยบายนี้ ในวันที่ 16 ธันวาคม ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ รวมทั้งยังมีการเฟซบุ๊กไลฟ์ให้ทุกคนได้รับชมด้วย

น.ส.พรรณิการ์ ยังกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับการออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า กฎหมายนี้กำลังรังแกคนเล็กคนน้อย รัฐบาลควรมีมาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่กลับตอกย้ำความย่ำแย่ของเศรษฐกิจไทยด้วยการเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แต่ในทางตรงกันข้าม กลับยกเว้นภาษีให้กับกลุ่มทุนข้ามชาติที่มาลงทุนในประเทศไทย เช่น การยกเว้นภาษีให้กับกลุ่มทุนอาลีบาบาของ แจ๊ค หม่า

โดยกลุ่มอาลีบาบา ยังได้ข้อมูลผู้บริโภคของประเทศไทยแบบฟรีๆ ภาษีก็ไม่ต้องจ่าย แต่สามารถใช้เทคโนโลยีล้วงข้อมูลการบริโภคในประเทศ ทำให้กลุ่มทุนข้ามชาติได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมมากขึ้น ส่วนพ่อค้าแม่ค้าคนไทยกลับต้องเสียภาษี เหล่านี้สะท้อนว่า รัฐบาล คสช.กำลังตอกย้ำวิธีทำเศรษฐกิจแบบทุนใหญ่ผูกขาด มากกว่าจะสนับสนุนกลุ่มทุนรายย่อย ทำให้เกิดช่องว่างทางรายได้มากขึ้นไปอีก

“สำหรับประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ กรณีความเหลื่อมล้ำ เรื่องการถือครองที่ดินในประเทศไทย จะเห็นว่าคนไทยเพียงร้อยละ 10 ถือครองที่ดินกว่าร้อยละ 90 ของทั้งประเทศ นำโดย 10 ตระกูลใหญ่ ซึ่งสามารถอ่านได้ตามข่าวทั่วไป เช่น ตระกูลสิริวัฒนภักดี 6 แสนกว่าไร่ ตระกูลเจียรวนนท์ 2 แสนกว่าไร่ เหล่านี้สะท้อนว่า การถือครองที่ดิน เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต กลุ่มทุนใหญ่จึงต้องการถือครองที่ดินมากๆ แต่เกษตรกรที่เป็นภาคการผลิตกลับไม่มีที่ดินถือครองเลย เหมือนเป็นผู้เช่าให้แก่กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดเสียมากกว่า ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังจะร่างกฎหมายเพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้า แต่รายชื่อกรรมการร่าง กลับประกอบด้วยกลุ่มทุนผูกขาดของไทย แล้วเนื้อหากฎหมายกำหนดว่า เมื่อเจ้าใดเจ้าหนึ่งได้ส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้านั้น เกินกว่าร้อยละ 50 ถึงจะถือว่าเป็นการผูกขาดทางการค้าในตลาดนั้น แต่ในความเป็นจริงคือไม่ถึงร้อยละ 45 ก็ถือว่า เป็นการผูกขาดแล้ว เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วเขาจะไม่กำหนดตัวเลขออกมาชัดเจน แต่จะดูที่พฤติกรรมและการใช้อำนาจต่างๆ ว่ามาช่วยส่งเสริมให้กลุ่มทุนนั้นผูกขาดทางการค้าหรือไม่ แน่นอนว่ากลุ่มทุนผูกขาดของไทยแทบจะนอนร่วมเตียงเดียวกับกลุ่มทหาร” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว