จีนรวบน้ำโขง! ลุยระเบิดแก่งผาได-ทำเขื่อนปากแบงในลาว เอื้อเรือใหญ่ไปถึงหลวงพระบาง

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมโรงแรมอินยาเลค กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ได้จัดประชุมวิชาการลุ่มน้ำโขง (2018 Greater Mekong Forum on Water Food and Energy) โดยมีผู้เข้าร่วมจากประเทศลุ่มน้ำโขงประมาณ 350 คน ทั้งภาครัฐ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(เอ็มอาร์ซี) บริษัทที่ปรึกษาและพัฒนาการสร้างเขื่อน นักวิชาการ ทนายความ และภาคประชาสังคม

ทั้งนี้ในการประชุม นายปีเตอร์จอน เมเนล นักวิจัยอาวุโสจากบริษัทที่ปรึกษา ICEM นำเสนอการศึกษาชิ้นใหม่ ภายใต้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง คือการศึกษาสิ่งแวดล้อมแผนการพัฒนาแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง โดยครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำโขงจากสามเหลี่ยมทองคำ บนพรมแดนไทย-ลาว ถึงหลวงพระบาง ประเทศลาว รวมระยะทางทั้งสิ้น 378 กิโลเมตร โดยศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากแนวทางการพัฒนา 2 แนวทาง

คือ 1.เกิดโครงการเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำโขง 2.เกิดโครงการเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำโขงและเกิดเขื่อนปากแบง ซึ่งจะมีการปรับปรุงร่องน้ำโดยเอาแก่งหิน สันดอน ออกจากแม่น้ำโขง 146 แห่ง เพื่อให้เรือขนาด 500 ตัน สามารถเดินทางในแม่น้ำโขงได้

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างมณฑลยูนนานของจีน ตามลำน้ำโขงลงมาถึงหลวงพระบาง โดยในส่วนของแก่งผาได บริเวณชายแดน ที่อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย จะมีการเอาแก่งหินออกเป็นปริมาตร 20,501.499 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นสัดส่วน 6.97% ของแก่งผาใดที่อยู่ใต้น้ำ และ 1.88% ของแก่งผาไดที่โผล่พ้นน้ำ ซึ่งจะทำให้เรือขนาดระวาง 3 เมตรสามารถแล่นผ่านแก่งผาไดได้

นายปีเตอร์จอน เมเนล กล่าวต่อว่า การศึกษาพบว่า แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ระยะทางประมาณ 98 กิโลเมตร มีเกาะแก่งที่อันตรายต่อการเดินเรือ 3 แห่ง และจากชายแดนไทยเข้าไปในลาว ถึงจุดสร้างเขื่อนปากแบง ระยะทางประมาณ 94 กิโลเมตร มีเกาะแก่งที่อันตรายต่อการเดินเรือ 7 แห่ง ซึ่งการปรับปรุงร่องน้ำนี้เป็นไปเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ โดยจะตัดแต่งเล็กน้อยของแก่งแม่น้ำโขง เพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ และไม่ใช่การระเบิดที่สร้างความเสียหายแบบที่จีนเคยทำ (บนแม่น้ำโขงตอนบนเหนือสามเหลี่ยมทองคำ ในอดีต)

ขณะที่ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวในที่ประชุมว่าฟังจากการนำเสนอแล้วเห็นได้ชัดเจน ว่าโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง และโครงการเขื่อนปากแบง คือเรื่องเดียวกัน เขื่อนปากแบงมีวัตถุประสงค์หลักไม่ใช่เพื่อผลิตไฟฟ้า แต่เป็นเพื่อยกระดับน้ำโขงให้สูงขึ้นเพื่อให้เรือจีน ลงไปได้ไกลขึ้น ถึงหลวงพระบาง

“ฟังแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ ที่บอกว่าเอาหินออกนิดเดียว นี่ไม่ใช่ทั้งหมด จริงๆ แล้วเรื่องแม่น้ำโขง ต้องประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) และจากที่ได้รับข้อมูลมา ก็เป็นที่ชัดเจนว่าผลกระทบต่อแม่น้ำโขงจะเกิดสะสมทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ข้อเป็นห่วงหลักของประชาชน คือ การเดินเรือขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่แม่น้ำโขงมากยิ่งขึ้น ขนาดปัจจุบันไม่ได้เดินเรือเต็มที่ เรือจีนมาถึงแค่เชียงแสน ก็ยังเสียหายระบบนิเวศมากแล้ว เรือจีนขนาดใหญ่ขนสินค้าล่องลงมา ย่อมต้องมีการคุ้มกันโดยกองกำลังของเขา ก็จะกลายเป็นปัญหาความมั่นคงชายแดนอีก” นายนิวัฒน์ กล่าว

โดยก่อนหน้านี้ บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง กรุ๊ป ซึ่งได้รับการมอบหมายจากบริษัท CCCC Second Harbor Consultant จำกัด ที่ปรึกษาของรัฐบาลจีน ที่ได้รับอนุญาตในการสำรวจการดำเนินงานออกแบบและสำรวจ

เบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ส่งจดหมายถึงองค์กรต่างๆเพื่อจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษา ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่างมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ระหว่างวันที่ 12-18 ธ.ค. จำนวน 8 เวที ในพื้นที่อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น และอ.เชียงแสน จ.เชียงราย

เริ่มต้นเวทีแรกที่อ.เชียงของ ในวันที่ 12 ธ.ค. 2561 ณ ห้องประชุมอาคารศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลเวียง อ.เชียงของ