“FFFE” ยื่นจม.เปิดผนึกถึง กกต.มีจุดยืนทำเลือกตั้งเสรี-เป็นธรรม หยุด คสช.แทรกแซง

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา พร้อมด้วย( ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุฌโณ จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองและกลุ่มประชาชน ในนามเครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (FFFE – Free, Fair & Fruitful Election Network) ได้เดินทางเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีจุดยืนการทำหน้าที่ที่เป็นอิสระในการจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม โดยไม่ถูกแทรกแซงการทำงานจากผู้มีอำนาจโดยเฉพาะ คสช. ท่ามกลางกระแสข่าวในขณะนี้ โดยเฉพาะ คสช.ที่ได้ออกคำสั่ง คสช.16/2561 ยืดเวลาให้ กกต.ทำการแบ่งเขตเลือกตั้ง พร้อมกับนำของขวัญที่ประชาชนที่ร่วมยื่นจดหมายเปิดผนึกมาให้เนื่องในโอกาสใกล้วันปีใหม่ อาทิ นาฬิกาตั้งเข็มเที่ยงตรง ผักบุ้งบำรุงสายตา ร่มและแคลเซียมเสริมกระดูกสันหลังแข็งแรง โดยมี นายสมเกียรติ คงดี ผู้อำนวยการกกต.เป็นรับหนังสือและของขวัญ

น.ส.ณัฏฐา กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันว่ากกต.เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของ คสช. เราจึงจับตาการทำงาน แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์เช่น ห้ามปราบพรรคการเมืองบางพรรค โดยอ้างคำสั่ง คสช . แม้ว่ามีบางพรรคควรได้รับการตักเตือนแต่ไม่ได้ถูกตักเตือน จึงเกิดความสงสัยว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ที่หนักสุดคือการใช้คำสั่ง คสช.ก้าวก่ายการทำงานของกกต.ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง นับว่า มี 3 คำสั่ง คสช.ที่ข้องเกี่ยวับการทำงานของกกต.

“เราคิดว่าการเลือกตั้งในบริบทที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การมีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจะทำให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใสมากขึ้น” น.ส.ณัฏฐากล่าว ถึงหนึ่งในข้อเรียกร้องถึง กกต.

ด้านนายอนุสรณ์ อุณโณ นักวิชาการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองกล่าวว่า ที่เรามารวมตัวในวันนี้ ก็เพราะประชาชนที่มีความห่วงใยโดยเฉพาะการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในนามเครือข่าย FFFE  ที่ได้กิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักให้กับสังคมถึงการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม แต่สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เอื้ออำนวยให้เกิดบรรยากาศดังกล่าว ดังนั้น กกต.ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการดูแล แต่ว่าตัวกกต.เองกลับเกิดขึ้นภายใต้สภาพที่ไม่เอื้ออำนวยด้วย อีกทั้งท่าทีของผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจในลักษณะเลือกปฏิบัติต่อพรรคการเมือง ดังนั้นแทนที่เราจะกดดัน กกต.เราอยากให้กำลังใจมากกว่า และเนื่องด้วยตามธรรมเนียมของเทศกาลปีใหม่ นอกจากจดหมายเปิดผนึกที่มีข้อเรียกร้องแล้ว ก็ต้องมีการมอบของขวัญ เราจึงนำของขวัญมาให้กกต.เป็นกำลังใจ

โดยเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า นับตั้งแต่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (FFFE) ได้เฝ้าติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ด้วยความห่วงใย เพราะเป็นการทำงานในบริบทที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งท้าทายการดำรงตนและปฏิบัติหน้าที่ตามครรลองขององค์กรอิสระเช่น กกต. โดยตรง

ความห่วงใยนั้นเกิดจากการแสดงท่าทีและทัศนคติบางประการทั้งจาก คสช. และ กกต. ที่ไม่เอื้อให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ได้แก่ การเลือกปฏิบัติในการห้ามปรามและตักเตือนพรรคการเมืองที่ทำกิจกรรมอันพึงกระทำได้ในสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งตามปกติ การติดตามและข่มขู่เจ้าของสถานที่จัดงานในการเยี่ยมเยียนประชาชนของพรรคการเมืองบางพรรคโดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคง อีกทั้งมีการข่มขู่ว่าอาจมีการยุบพรรคทั้งที่ไม่มีหลักฐานการกระทำความผิด ในขณะที่พรรคการเมืองบางพรรคและบุคคลในรัฐบาลที่เป็นสมาชิกพรรคสามารถดำเนินการทุกอย่างที่เป็นไปในเชิงหาเสียงโดยปราศจากการท้วงติง และล่าสุดคือการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ถูกยับยั้งโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงอำนาจ กกต. และนำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจในสังคมว่าการแบ่งเขตอย่างผิดปกติดังกล่าวจะเป็นการเอื้อประโยชน์พรรคการเมืองใดหรือไม่ อีกทั้งยังเกิดคำถามว่าจะมีการแทรกแซงอื่นใดอีกที่จะสร้างความไม่เป็นธรรมในอนาคต เป็นต้น

การเลือกตั้งที่มีความหมายคือการเลือกตั้งที่ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเป็นการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองสามารถแข่งขันอย่างเท่าเทียมภายใต้กติกาเดียวกัน ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบโดยผู้ถืออำนาจที่อาจมีส่วนได้เสียกับการแข่งขันนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้ กกต.

1. ผลักดันให้มีการปลดล็อคการเมืองและยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองและสื่อมวลชนโดยทันที เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมในการเลือกตั้งที่มีการสื่อสารและรณรงค์ได้อย่างเสรี อันจะนำมาสู่การตัดสินใจเลือกอย่างมีคุณภาพ
2. พิจารณาตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับรัฐบาล คสช. ที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบและไม่เป็นธรรม เช่น การตั้งชื่อพรรคพ้องกับโครงการของรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้
3. เสนอให้รัฐบาล คสช. เปลี่ยนสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ และให้ คสช. ยุติการปฏิบัติหน้าที่และหยุดใช้เจ้าหน้าที่แทรกแซงกิจกรรมของพรรคการเมือง เพื่อให้การเลือกตั้งมีความเป็นธรรมและเป็นไปตามมารยาททางการเมือง
4. เสนอให้หยุดการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้วยอำนาจตามมาตรา 44 ในการแทรกแซงการดำเนินงานของ กกต.
5. เชิญองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ สหประชาชาติ และสหภาพยุโรป มาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้องค์กรเหล่านี้สามารถเตรียมการการจัดการสังเกตการณ์เลือกตั้งได้ทันเวลา

สุดท้ายเราขอส่งกำลังใจมายัง กกต. และเจ้าหน้าที่ทุกท่านให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระได้อย่างสมศักดิ์ศรี ปราศจากการแทรกแซงโดยอำนาจรัฐ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมาย เป็นการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และส่งผลดีต่อประเทศชาติต่อไป

เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ
(FFFE – Free, Fair & Fruitful Election)
30 พฤศจิกายน 2561