โลกยกย่อง “กาญจนา กาญจนสุต” ผู้บุกเบิกอินเตอร์เน็ตประเทศไทย อุทิศตนผลงานเยี่ยมระดับสากล

เมื่อเวลา 17.40 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสาธารณรัฐเกาหลี วันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ โรงแรมคอนราด กรุงโซล นายกองซาโล คามาริลโล ประธานกรรมาธิการ ประชาคมอินเตอร์เน็ตสากล ได้ขึ้นประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัล “โพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด” ปี 2559 ภายในงาน ประชุมคณะทำงานด้านวิศวกรรมอินเตอร์เน็ตครั้งที่ 97 โดยผู้ได้รับการเลือกจากคณะกรรมการพิจารณา คือ ศ. กาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNICF) จากนั้นนายคามาริลโลได้มอบรางวัลลูกแก้วคริสตัลให้แก่ ศ.กาญจนา ต่อหน้าสักขีพยานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารข้อมูลจากทั่วโลกที่เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ ศ.กาญจนา ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย และการสร้างสรรค์ผลงานต่อแวดวงอินเตอร์เน็ตอันเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสากลมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษของการอุทิศตน

ทั้งนี้ ศ.กาญจนา เป็นผู้แรกที่นำอินเตอร์เน็ตมายังประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2529 โดยการสร้างการเชื่อมต่อทางอีเมล์ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียกับภายนอกประเทศ และได้ขยายวงกว้างรองรับการใช้งานอีเมล์ออกไปยังสถาบันการศึกษาและองค์กรอื่น ๆ จนกระทั่งอินเตอร์เน็ตมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศในปัจจุบัน ศ.กาญจนา ได้ก่อตั้งหน่วยงานหลายหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอินเตอร์เน็ตในประเทศและภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC) ที่ดูแลบริหารโดเมน .th และ .ไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 ห้องปฏิบัติการอินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษาและวิจัย (intERLab) ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในด้านวิศวกรรมอินเตอร์เน็ตให้กับภูมิภาค และศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เป็นกลางแห่งแรกของประเทศไทย (BKNIX) เป็นต้น ศ.กาญจนา ถูกเรียกในวงการอินเตอร์เน็ตว่า มารดาแห่งอินเตอร์เน็ตไทย

20161116-seoul-dscf6433

ศ.กาญจนา ให้สัมภาษณ์ ภายหลังได้รับรางวัลว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้รับรางวัลอันทรงค่านี้ ซึ่งรางวัลดังกล่าวมีความหมายกับตนเองมาก

“ดิฉันรู้จักชื่อ ดร.โพสเทล เป็นครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้วผ่านเพื่อนของดิฉันที่ช่วยดิฉันเชื่อมต่อให้เกิดอีเมล์ครั้งแรกจากประเทศไทย นั่นคือโรเบิร์ต เอลซ์ ที่หลายท่านในที่นี้คงจะรู้จัก ซึ่งหลังจากนั้นดิฉันไม่เคยหยุดงานด้านพัฒนาอินเตอร์เน็ต มันเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับดิฉันซึ่งมีเหล่าสมาชิก IETF หลายท่านที่พร้อมยื่นมือให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด ดิฉันขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ และขอขอบคุณประชาคมอินเตอร์เน็ตสากลสำหรับรางวัลและการยอมในครั้งนี้ ดิฉันมั่นใจอย่างยิ่งว่าผู้คนที่ได้ให้ความช่วยเหลือดิฉันจะร่วมรับรางวัลนี้ ขอบคุณค่ะ” ศ.กาญจนากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรางวัล โจนาธาน บี โพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด (Jonathan B. Postel Service Award) หรือ โพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด จัดตั้งขึ้นโดยประชาคมอินเตอร์เน็ตสากล (Internet Society) เพื่อมอบให้แก่ผู้ที่สร้างคุณประโยชน์ในด้านการสื่อสารข้อมูลอย่างโดดเด่นและเป็นที่ประจักษ์ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลงานทางด้านเทคนิคอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม การสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาคม และความเป็นผู้นำ โดยรางวัลนี้เริ่มมีการมอบให้แก่ผู้ที่ได้รับการคัดสรรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมาและมอบเพียงปีละ 1 รางวัลเท่านั้น ทั้งนี้ ชื่อรางวัล โพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับ ดร.โจนาธาน โพสเทล หรือ Jon Postel หนึ่งในสามของผู้คิดค้นอินเตอร์เน็ตให้กับโลกใบนี้ และดูแลบริหารประชาคมอินเตอร์เน็ตมาตลอด 30 ปีที่อยู่ในสายอาชีพด้านระบบเครือข่าย อีกหนึ่งคุณูปการที่สำคัญของ ดร.โพสเทล คือเป็นผู้เขียน RFC ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานทางด้านเทคนิคของอินเตอร์เน็ตเป็นคนแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ถึง พ.ศ. 2541 รวมถึงเป็นผู้บริหารอาพาเน็ต (APANET) ประธานคนแรกของไออานา (IANA: Internet Assigned Number Authority) และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะกรรมการด้านสถาปัตยกรรมอินเตอร์เน็ต (Internet Architecture Board) อีกด้วย

สำหรับประชาคมอินเตอร์เน็ตสากล (Internet Society) เป็นองค์กรอิสระที่เป็นศูนย์รวมหลักของข้อมูลเชิงลึกด้านอินเตอร์เน็ต เป็นแหล่งรวมผู้นำทางความคิดจากทั่วโลก และเป็นองค์กรแม่ของคณะทำงานด้านวิศวกรรมอินเตอร์เน็ต (IETF) ประชาคมอินเตอร์เน็ตสากลสนับสนุนและเปิดกว้างให้มีการพูดคุยร่วมกันระหว่าง กลุ่มผู้ใช้งาน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และองค์กรอื่น ๆ ในด้าน นโยบายอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยี และการพัฒนาไปสู่อนาคต การที่ประชาคมอินเตอร์เน็ตสากลทำงานร่วมกันกับกลุ่มสมาชิกและสาขา (Chapter) ทั่วโลก ทำให้สามารถขับเคลื่อนให้เกิดวิวัฒนาการและความเติบโตของอินเตอร์เน็ตสำหรับทุกคนได้อย่างต่อเนื่อง เว็บไซต์: www.internetsociety.org

ที่มา : มติชนออนไลน์