‘อนาคตใหม่’ ตั้งข้อสงสัยผู้สร้างรัฐธรรมนูญปราบโกง ทำไมไม่ยอมเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน

แฟ้มภาพ

อนาคตใหม่ ชูหลักการ รัฐเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ แก้ไขคอร์รัปชัน ไม่ต้องฝากความหวังที่คนดี หรือรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่ทางแก้แต่กลับยิ่งสร้างปัญหา

วันที่ 16 พฤศจิกายน เวลา 20.00 น. พรรคอนาคตใหม่ จัดรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กพรรคอนาคตใหม่ – Future Forward Party โดยมี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ น.ส. พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ร่วมดำเนินรายการ

ในช่วงหนึ่งได้มีการพูดถึง กรณี ที่ อ. มีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่คว่ำหวอดในวงการการเมือง และมีบทบาทสำคัญในการออกกฎหมาย ที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญปราบโกง แต่กลับได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง นายกของสภามหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ เนื่องจากว่า ป.ป.ช. เพิ่งออกประกาศ ตามมาตรา 102 ของกฎหมายใหม่ ในปี 61 นี้ กำหนดว่า ผู้ที่มีตำแหน่งสูงที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน เปิดเผยบัญชีต่อสาธารณชนนั้น ได้รวมถึงตำแหน่ง กรรมการของสภามหาวิทยาลัย ด้วย โดยได้บอกว่า ไม่อยากเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินให้ตรวจสอบ เพราะมันยุ่งยาก ซึ่งนอกจาก อ.มีชัย ก็ยังมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยอีกเป็นจำนวนมาก ที่จะขอลาออก เหตุเพราะไม่อยากยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ยังมี คุณหมออุดม คชินทร รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ออกมากล่าวเห็นด้วยในกรณีนี้อีกว่า “ถ้าเป็นผม ผมก็คงลาออกดีกว่า เพราะยุ่งยาก ต้องมาแสดงบัญชีทรัพย์สิน ไปถึงบุตร ภรรยา ผิดพลาดมาก็เดือดร้อน แบบนี้ จะมีใครอยากมาพัฒนาการศึกษาไทย ”

แต่ทางพรรคอนาคตใหม่มองว่า ความจริงแล้ว เราทุกคนก็คาดหวังว่า คนที่จะมาพัฒนาการศึกษาไทย ควรที่จะแสดงความโปร่งใส โดยการแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณชน ไม่ใช่ปล่อยให้สังคมเกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมจึงไม่ยอมให้ตรวจสอบ ไม่ยอมทำให้เกิดความโปร่งใส โดยนายธนาธรได้กล่าวถึงในประเด็นนี้ว่า ” มหาวิทยาลัย เป็นสถานที่ผลิตบัณฑิต คนมีความรู้ ความสามารถเข้าสู่สังคม ในเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่สำคัญในการผลิตคนที่มีคุณภาพสู่สังคม เป็นเข็มชี้ทิศให้สังคม แต่ตัวเองกลับไม่ยอมแสดงความโปร่งใสในบัญชีทรัพย์สิน เป็นเพราะอะไร ซึ่งยังมีคนอีกมากที่มีความรู้ ความสามารถ ที่พร้อมเข้าไปดำรงตำแหน่ง กรรมการของสภามหาวิทยาลัย ด้วยเจตจำนงบริสุทธิ์ และมีพร้อมในการเปิดบัญชีของตัวเองสู่สาธารณชน อย่างโปร่งใส “

” แม้แต่ เว็บไซต์ของ ป.ป.ช. เอง ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบทุจริตในแวดวงราชการ นักการเมือง แต่รายงานประจำปีของ ปปช.เอง ที่เปิดเผยต่อสาธารณชนครั้งสุดท้าย คือปี 2557 ซึ่งไม่ได้เปิดเผยมาแล้วถึง 3-4 ปี ก็คือตั้งแต่รัฐประหาร นั่นเอง และเมื่อจะเข้าไปดูข้อมูลเหล่านี้ในเว็บไซต์ ก็จะเห็นคำว่า ปิดปรับปรุง และถ้าเราลอง search หา google บัญชีทรัพย์สินของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะไม่มีข้อมูลจาก เว็บไซต์ของ ป.ป.ช. ขึ้นมาเลย ซึ่งถ้าเราไปคลิกที่หน้าแสดงบัญชีทรัพย์สิน ของนักการเมือง ข้าราชการ นายพล ขุนทหาร ทุกคน ก็จะพบว่า อยู่ในระหว่างการปรับปรุง ทั้งหมดเช่นกัน ทั้งๆ ที่ทุกคนที่มีอำนาจในสาธารณะนั้น อำนาจตรงนี้เป็นของประชาชน ซึ่งประชาชนควรมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้