“ชูศักดิ์”ไม่เห็นด้วย อัด “คสช.”เข้าข่ายแทรกแซงจัดการเลือกตั้ง ออกคำสั่งที่ 16/61

“ชูศักดิ์” อัด “คสช.-รัฐบาล” เข้าข่ายแทรกแซงการจัดการเลือกตั้ง หลังมีการออกคำสั่งที่ 16/2561 ย้ำ ไม่เห็นด้วย

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งที่ 16/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ขยายเวลาให้ กกต. ในการพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งได้ จนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มีผลใช้บังคับ (ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2561) 2.ให้ คสช. รัฐบาล และ กกต. รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ และให้อำนาจ กกต. ตรวจสอบเปลี่ยนแปลงการพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ และรับรองความชอบด้วยกฎหมายในการกระทำของ กกต. 3.ให้เวลาพรรคการเมืองสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามคำสั่งของหัวหน้า คสช. ข้างต้น จะเห็นได้ว่าอำนาจการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. และขณะนี้การดำเนินการตามระเบียบของ กกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็ได้ผ่านพ้นขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่แล้ว และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ก็ได้ส่งรูปแบบของการแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดให้ กกต. ครบทุกจังหวัดและ กกต. เองก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร และเตรียมจะประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งอยู่แล้ว

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การที่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งเช่นนี้มีข้อพิจารณาใน 4 ประเด็น ดังนี้ 1.การที่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งให้ตนเองและรัฐบาล ซึ่งเป็นองคาพยพเดียวกัน มีหน้าที่รับข้อร้องเรียนเรื่องการแบ่งเขต ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน เป็นการทำไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อมีรัฐมนตรีในรัฐบาลถึง 4 คน เป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมืองหนึ่ง 2.การให้ คสช. และรัฐบาล เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่ตนเองไม่มีอำนาจหน้าที่ และคนในกำกับดูแลของตนเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอยู่ด้วย จะทำให้กระบวนการจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และทำให้สังคมเข้าใจได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการก้าวก่ายแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นในการเลือกตั้งหรือไม่ 3.การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ล่าช้ามีผลโดยตรงต่อการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดของพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัคร เพราะเมื่อไม่ทราบเขตเลือกตั้งที่แน่นอน ก็ไม่อาจแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้เพื่อต้องการให้มีเหตุผลเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ใช่หรือไม่ และ 4.เหตุผลที่อ้างในการออกคำสั่งซึ่งระบุว่าเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยอันเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปการเมือง ตลอดจนป้องกันการกระทำอันอาจเป็นการกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ หรือราชการแผ่นดิน ก็ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 แต่อย่างใด แต่กลับเป็นสิ่งตรงกันข้ามที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมเสียมากกว่า และการกระทำเช่นนี้ยิ่งจะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยเสียมากกว่า

“ที่ผ่านมา คสช. ได้ใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. แทรกแซงการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองมาหลายครั้ง ตั้งแต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 และจนถึงคำสั่งที่ 16/2561 นี้ ทั้งที่หาก คสช. ให้พรรคการเมือง ซึ่งจัดตั้งอยู่แล้วและที่จัดตั้งขึ้นใหม่ดำเนินการไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2561 ก็คงจะไม่เกิดปัญหาใดๆ เหมือนที่เป็นอยู่ การกระทำเช่นนี้ จึงขอให้ประชาชนได้พิจารณาว่าเป็นการเอาเปรียบทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล และ คสช. หรือไม่ แต่ในส่วนของตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการออกคำสั่งของหัวหน้า คสช. ฉบับนี้” นายชูศักดิ์ กล่าว