ศรีสุวรรณ ร่อนแถลงการณ์ค้าน สนช.ผ่านกฎหมายขึ้นเงินเดือนนายพล

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ออกแถลงการณ์คัดค้านการขึ้นเงินเดือนทหารชั้นนายพล ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังจะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ… ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอให้คณะรัฐมนตรี( ครม.) เห็นชอบแล้วนั้น โดยกฎหมายดังกล่าวมีการแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิกอัตราเงินเดือนข้าราชการทหารของนายทหารสัญญาบัตรยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ หรือพลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก ที่ครองยศอัตราจอมพล แก้ไขเป็นให้นายทหารสัญญาบัตรยศ พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก อัตราเงินเดือนพลเอกพิเศษ พลเรือเอกพิเศษ และพลอากาศเอกพิเศษ ให้ได้รับเงินเดือนในระดับ น.9 แทน โดยอ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างและการบริหารจัดการกองกำลังพลของกระทรวงกลาโหม ทำให้นายทหารสัญญาบัตรยศพลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก จะได้รับเงินเดือนสูงสุด 76,604 บาท จากเดิมที่เคยปรับขึ้นเมื่อปี 2558 ในระดับสูงสุดที่ 72,965 บาท ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีอัตรานายพลล้นกองทัพมากเกินไป ควรจะยุบยกว่าครึ่งหรือมากกว่า 50%

“กรณีที่ สนช.จะพิจารณาผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ในวันนี้วันที่ 16 พฤศจิกายน จะเป็นการแสดงออกที่ไม่ละอายต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่ต้องระทมทุกข์กับปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคืองที่ปรากฎอยู่ในขณะนี้ ทั้งค้าขายซบเซา ถูกแย่งอาชีพจากทุนใหญ่ ปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอย่างรุนแรงทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว การพิจารณาขึ้นเงินเดือนให้ทหารในช่วงนี้จึงผิดกาลเทศะเป็นอย่างยิ่ง และควรรอให้สภาฯที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาพิจารณาจะสง่างามมากกว่า”

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า นอกจากนั้นสมาชิก สนช.กว่าครึ่งเป็นนายทหารระดับสูง การพิจารณาผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ย่อมเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นการใช้อำนาจทางนิติบัญญัติแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองกับพรรคพวก อาจขัดต่อมาตรา 185 ประกอบมาตรา 219 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2560 และขัดต่อข้อ 11 ของมาตรฐานทางจริยธรรมของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระพ.ศ.2561 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่าไม่กระทําการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ดังนั้น หาก สนช. รายใดยกมือให้ความเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ก็จะครบองค์ประกอบความผิดทันที จากนั้นสมาคมฯ จะร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อไต่สวนและสอบสวนต่อไป