รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ลงตรัง โปรยยาหอมช่วยชาวสวน พร้อมส่งมือชำนาญตรวจสอบบัญชีสางทุจริตยาง

ความคืบหน้ากรณีพบการทุจริตการขายยางของ ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.ตรัง หลังจากตรวจพบอดีตผู้จัดการฯกับพวกร่วมกันทุจริตฉ้อโกงยักยอกยางของชุมนุมฯไปขายให้กับบริษัทต่างๆรวมประมาณ 5 บริษัท โดยเฉพาะกับ 2บริษัท ซึ่งเป็นของอดีตผู้จัดการที่ไปลักลอบจดทะเบียนจัดตั้ง แต่ไม่ได้ใช้ชื่อของผู้จัดการเอง และออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 10 ฉบับๆละ 5 ล้าน รวม 50 ล้าน การลักลอบ นำยางพาราไปขายจำนวน 80,000 กิโลกรัม รวมทั้งความเสียหายกรณีชุมนุมขายยางให้กับบริษัทเอกชน เป็นเงินจำนวน 207 ล้านบาท แต่ไม่ปรากฏว่ามีการส่งมอบเงินให้กับทางชุมนุมแต่อย่างใด
ล่าสุด ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินทางมาประชุมมอบภารกิจให้เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์รวมกว่า 10 คน ที่มีความชำนาญเพื่อเข้าร่วมตรวจสอบปัญหาการทุจริตภายในชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังตามที่นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังแต่งตั้ง และตามที่อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์มอบหมาย เพื่อหาความจริงและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสต๊อกยางพาราของชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังทั้งหมดที่หายไปว่า มีจำนวนเท่าใด หายไปไหน และใครจะต้องรับผิดชอบ เชื่อว่าการระดมตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆที่ร่วมมือกันในครั้งนี้คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะต้องได้รายละเอียด และขึ้นอยู่กับความร่วมมือของบริษัทต่างๆที่ร่วมทำการซื้อขายกับชุมนุมสหกรณ์ด้วย

นายเชิดชัย พรหมแก้ว

นายเชิดชัย กล่าวว่า หลังจากที่มีการประชุมแก้ปัญหาราคารายางพาราที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ซึ่ง นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ได้สั่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)ที่จะออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราเพื่อที่จะรอเสนอการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 พฤศจิกายน โดยกำชับว่า ชาวสวนยางพาราจะต้องขึ้นทะเบียนกับ กยท.ถ้าไม่ขึ้นก็ไม่มีสิทธิ พร้อมทั้งจะให้ กยท.ประกาศราคายุติธรรมในการซื้อยาง ยกตัวอย่างเช่น ราคาจะไม่นิ่ง แผ่นดิบรมควันชั้น 3 ขายได้ไม่ต่ำกว่า กก.40 บาท น้ำยางสดขายได้ไม่ต่ำกว่า กก.ละ37 บาท ยางก้นถ้วยไม่ต่ำกว่า 35 บาท แต่ถ้ามีวิกฤตการณ์ด้านการตลาดทำให้เกษตรกรขายยางได้ต่ำกว่านี้รัฐบาลจะชดเชย เช่น ยางแผ่นดิบขายได้ กก.ละ38 บาทจะชดเชย 2 บาท เกษตรกรที่ได้ต้องขึ้นทะเบียน เพราะเกรงว่าจะมีการสวมรอยด้วยการกว้านซื้อยางมาขาย ต้องมีการมาตรการอย่างยุติธรรม

“มาตรการที่2 อาจจะมีการมีการจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีที่มีการหยุดกรีดยาง ซึ่งยังไม่มีการสรุปในรายละเอียด จำนวนไร่ยังไม่ชัด 3)จะมีการร่วมกับผู้ประกอบการบางรายที่เอาน้ำยางดิบไปทำผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ที่นอน,หมอนยางพารา ส่งให้ 4 กระทรวง เอาไปใช้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำไปใช้เพื่อต้องการดูดซับน้ำยางมาผลิตในกระทรวงกลาโหม,สาธารณสุข,ศึกษาธิการและ,กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เอาไปใช้ในที่ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเด็กเล็ก บ้านคนชรา โรงเรียน หอพักน่าจะช่วยได้มากพอสมควร ซึ่งเป็นมาตรการก่อนปิดกรีด คาดว่าหลังวันที่ 29 พฤศจิกายน ถ้าคณะรัฐมนตรีมีมติแล้วและเอกสารทุกอย่างพร้อม มาตรการดังกล่าวก็น่าจะเริ่มเป็นผล” นายเชิดชัย กล่าว

นายเชิดชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ทางผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้กรุณาตั้งเจ้าหน้าที่สหกรณ์จังหวัดตรังเข้าไปร่วมตรวจสอบ ตนเองได้มาประชุมมอบนโยบายและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สหกรณ์จังหวัดตรัง ในเรื่องของการส่งทีมเข้าไปช่วยตรวจสอบ เพราะวันนี้มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสต๊อกยางที่ซื้อขายผ่านบัญชีว่ามีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ ถ้าหากสต๊อกหายไปต้องรู้ว่าหายไปไหนใครรับผิดชอบ ซึ่งต้องพิสูจน์ทางเอกสารคาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะได้รายละเอียด
“ปัญหาที่เกิดขึ้นทางชุมนุนอ้างว่านำยางไปขายแล้วลูกค้าไม่ชำระเงิน แต่มีการตรวจสอบลูกต้าบางรายมีการปฎิเสธมาซึ่งต้องว่าด้วยหลักฐานข้อเท็จจริง ว่าจริงๆใครหยิบยางไปขาย ความรับผิดชอบอยู่กับใคร จึงบอกเจ้าหน้าที่ว่าต้อ งให้ความร่วมือกับทางจังหวัดที่จะเข้าไปร่วมตรวจสอบอย่างเต็มที่ ซึ่งกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ก็ส่งผู้สอบบัญชีเข้ามาดูแล้วเช่นกัน ซึ่งสัปดาห์หน้าน่าจะได้ข้อยุติ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการซับซ้อนแต่อย่างใด เพียงแต่ว่ามันมีบุคคลภายนอกที่มาทำธุรกรรมต่างๆว่าเขาจะให้ความร่วมมือกับเราได้แค่ไหน ถ้าให้ความร่วมมือดีก็น่าจะเสร็จเร็ว แต่ถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็มีการตรวจเอกสารของเราด้านเดียวก็อาจจะช้า” นายเชิดชัย กล่าว