รองเลขาฯกกต.แนะทริคจับทุจริต ให้ศึกษาเครือข่ายหัวคะแนนทั่วประเทศ

ณัฎฐ์ เล่าสีห์สวกุล

รองเลขาฯกกต. แนะทริคจับทุจริตให้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ศึกษาเครือข่ายหัวคะแนนทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี นายณัฎฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวบรรยายในการสัมมนาเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะมีบทบาทสำคัญโดยหลังจากการจับสลากเพื่อลงพื้นที่ตามกลุ่มจังหวัด ขอให้เข้าไปในสำนักงาน กกต.จังหวัดเพื่อขอดูบัญชีเครือข่ายความสัมพันธ์ของหัวคะแนน ซึ่งมีการจัดทำไว้ครบทุกจังหวัด การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นสะท้อนถึงการใช้เงินอย่างมหาศาลตั้งแต่ใช้หลอดดูด ติดต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ให้ดูแลฐานคะแนนในตำบล ผู้ตรวจการเลือกตั้งจึงสามารถคำนวณได้เลยว่าเงินจะออกวันไหน เพราะบัตรลงคะแนน ซึ่ง 1 ใบมีผลเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ และยังใช้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยราคาบัตรลงคะแนนของประชาชนจะพุ่งอย่างแน่นอน ขณะนี้แม้แต่นายก อบต.ก็มีค่าตัวไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท เพื่อดูแลฐานคะแนนในตำบล

“พรรคการเมืองใหญ่ทำตัวเป็นอะมีบา ซึ่งเป็นสิทธิที่จะสามารถแตกพรรคย่อย เพราะถ้าอยู่เป็นพรรคใหญ่มี ส.ส.ล้นหลาม จะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์เลย ยกตัวอย่างชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.เขต 198 เขต จะได้ปาร์ตี้ลิสต์แค่ 2 ที่นั่ง พรรคใหญ่จึงต้องแบ่งตัวเป็นพรรคย่อย โดยพรรคย่อยไม่ต้องการที่นั่ง ส.ส.แบบเขตเลย ขอให้มีคะแนนมาในลำดับ 2 หรือ 3 ก็จะได้สัดส่วนที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์” นายณัฏฐ์กล่าว และว่า นอกจากนี้ในประเด็นหัวคะแนนก็เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เดิมหัวคะแนนจะเลือกฝ่ายอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันรักทุกพรรค รับเงินทุกพรรค เพื่อเกลี่ยสัดส่วนฐานเสียงแบ่งไปสนับสนุนให้กับทุกพรรค ทั้งนี้หวังว่าด้วยพฤติกรรมต่างๆ ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องจับได้สักคน

นายณัฏฐ์กล่าวอีกว่า ขอให้สังเกตหัวคะแนนจะมีพฤติการณ์ที่ชัดเจน จะเป็นคนที่มานั่งเฝ้าไม่ไกลจากหน่วยเลือกตั้ง สังเกตง่ายๆ คือเขาจะไม่กินข้าวกินปลา จะนั่งเฝ้าไม่ไปไหนเลยทั้งวัน เพื่อจะดูความเคลื่อนไหวของคนลงคะแนน โดยดูว่าเงินที่จ่ายไปเข้าคูหาหรือยัง อีกทั้งยังอาจจะมีการทะเลาะกันระหว่างหัวคะแนนด้วยกัน ซึ่งหัวคะแนนจะแตกต่างจากกลุ่มนักศึกษาที่มาคอยถามผลการลงคะแนนเพื่อทำเอ็กซิตโพล รวมทั้งให้สังเกตเรื่องการย้ายทะเบียนเพื่อการเลือกตั้ง โดยให้จับตาไปยังทะเบียนบ้านที่มีคนต่างนามสกุลมาอยู่รวมกันมากๆ ถ้าเจอขอให้สันนิษฐานเบื้องต้นได้เลยว่าเป็นการย้ายทะเบียนบ้านเพื่อให้มีผลต่อการเลือกตั้ง

“การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะเกิดปรากฏการณ์ ส.ส.ชักเข้า ชักออก และจะไม่นิ่งจนกว่าจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการ หรือเมื่อครบกำหนด 1 ปี หลังการนับคะแนนจะมี ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ของบางพรรคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะเมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ก็จะมีการคำนวณ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อใหม่ ทำให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะขยับไปมา เป็นปรากฏการณ์เป็น ส.ส.แค่ข้ามคืน ก็ต้องกลับบ้านไปเลี้ยงลูก และเมื่อมีการคำนวณคะแนนอาจกลับมาเป็น ส.ส.ได้อีก” นายณัฏฐ์กล่าว

ส่วนอีกประเด็นที่ต้องจับตาคือนโยบายในการหาเสียงของทุกพรรคการเมือง ซึ่งกฎหมายระบุชัดให้พรรคแจ้งนโยบายต่อ กกต.ก่อนจะนำไปหาเสียง เช่น นโยบายจะใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ และหาเงินมาจากแหล่งไหน อีกทั้งต้องบอกถึงข้อดีข้อเสียด้วย เมื่อ กกต.อนุมัติแล้วจึงจะนำไปใช้หาเสียงได้ โดยนโยบายหาเสียงจะเริ่มมีผลตอนที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องไปแถลงนโยบายต่อสภา ถึงเวลานั้นจะถูกตรวจสอบว่านโยบายจะสอดคล้องกับนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์หรือไม่ หากไม่เป็นเรื่องเดียวกัน ก็จะกลายเป็นว่าหาเสียงหลอกลวงมาตั้งแต่ต้นหรือไม่ เพราะเมื่อได้รับเลือกแล้วไม่ได้นำนโยบายหาเสียงมาใช้เลย