เก็บประเด็นผู้นำอาเซียนถกนอกรอบ จาก ‘มหาธีร์’ อัด ‘ซูจี’ ปมโรฮิงญา ถึงเจรจา ‘ซีโอซี’ เสร็จภายในปี 2022

การหารือกันอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำอาเซียน ระหว่างรับประทานอาหารค่ำเมื่อคืนวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 33 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ นับเป็นการหารือกันอย่างตรงไปตรงมาในหลายประเด็นที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ และทะเลจีนใต้

กรณีรัฐยะไข่ ผู้นำอาเซียนหลายประเทศได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวด้วยถ้อยคำรุนแรง โดยนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด ของมาเลเซีย ถึงกับบอกว่า “รู้สึกผิดหวัง” กับเรื่องที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีเป็นที่ชัดเจนว่าผู้นำอาเซียนต่างเห็นพ้องและเน้นย้ำถึงความสำคัญที่จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยอาเซียนจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือเมียนมาในมิติที่หลากหลาย

ด้านนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาได้แจ้งกับผู้นำอาเซียนว่า เมียนมาเข้าใจถึงข้อวิตกกังวลของผู้นำอาเซียนและไม่ได้เพิกเฉยต่อข้อห่วงกังวลทั้งจากภายในอาเซียนและจากประชาคมระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันเมียนมาก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่ด้วยแนวทางสันติวิธี ควบคู่กับการหารือและความร่วมมือกับบังกลาเทศในกระบวนการส่งกลับผู้ลี้ภัยซึ่งยังคงอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ โดยการส่งกลับผู้ลี้ภัยรอบใหม่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ พร้อมกับย้ำว่าเมียนมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านมนุษยธรรม และขอบคุณชาติสมาชิกอาเซียนรวมถึงประชาคมโลกที่แสดงความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเมียนมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ผู้นำอาเซียนเห็นว่าการส่งผู้แทนอาเซียนเดินทางไปลงพื้นที่ในเมียนมาไม่ควรใช้รูปแบบทรอยก้า คือประธานในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของอาเซียนเป็นผู้แทนไปลงพื้นที่เท่านั้น แต่ควรจะใช้รูปแบบของคณะผู้แทนหรือเป็นผู้แทนจากชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหมดซึ่งจะต้องมีการหารือกันในรายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ดีท้ายที่สุดแล้วการดำเนินการดังกล่าวต้องขึ้นกับความสบายใจของฝ่ายเมียนมาเป็นสำคัญ

ในประเด็นทะเลจีนใต้ ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการธำรงรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการบินและการเดินเรือในพื้นที่ โดยอาเซียนจะต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันในการรับมือกับประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้มาเลเซียและสิงคโปร์มีจุดยืนร่วมกันคือการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวต้องยึดเอาหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายทะเล(อันครอส) ค.ศ.1982 และประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้(ซีโอซี)เป็นสำคัญ

ผู้นำมาเลเซียกล่าวว่า อาเซียนไม่อยู่ในจุดที่จะเผชิญหน้าทางทหารกับจีนได้ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ขณะเดียวกันการเผชิญหน้าก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆ กับอาเซียนรวมถึงโลกด้วย

สำหรับประเด็นการยกร่างซีโอซี ที่ประชุมผู้นำอาเซียน-จีนเห็นพ้องกันว่า ร่างแรกของเอกสารฉบับเดียวสำหรับการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่สองฝ่ายจัดทำขึ้นร่วมกันน่าจะแล้วเสร็จภายในปีหน้า ขณะที่การเจรจาเพื่อจัดทำซีโอซีน่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปีหลังจากนั้นคือในปี 2022 นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังได้รับรองเอกสารวิสัยทัศน์ปูทางความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ 2030 อีกด้วย