‘พรรคประชาชาติ’กับนโยบายสาธารณสุข หัวใจสำคัญ คือ ความเท่าเทียมกันของมนุษย์

รายงานข่าวแจ้งว่า พรรคประชาชาติมีเจตนารมณ์พื้นฐานที่สำคัญสองประการ คือ การทำให้มนุษย์ทุกชาติพันธ์ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกพื้นที่ มีความเท่าเทียมกัน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ทุกชีวิตมีศักดิ์ศรี มีความสามารถที่จะดำรงชีพด้วยตนเองได้ นโยบายสาธารณสุขจึงเป็นนโยบายด้านหนึ่งที่พรรคประชาชาติให้ความสำคัญอย่างยิ่ง พรรคประชาชาติมีเจตนารมณ์ที่ใช้นโยบายสาธารณสุขนั้น ทำให้มนุษย์เท่ากัน และมีศักดิ์ศรี มีสวัสดิภาพแห่งชีวิต อย่างเช่นมนุษย์ชาติในชาติอารยะพึงมี

ทั้งนี้ทีมนโยบายพรรคประชาชาติ นำโดยอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ได้รับโอกาสแลกเปลี่ยนแนวคิดสำหรับการพัฒนานโยบายสาธารณสุข กับคุณหมอสองท่าน ที่เป็นหนึ่งในคณะที่ร่วมทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ประชาชนคนไทย ทำในสิ่งที่เหนือความคาดหมาย และก้าวข้ามกำแพงแห่งความเป็นไปไม่ได้อย่างสง่าผ่าเผย และทำให้สองสิ่งดังกล่าวนี้ยืนหยัดในสังคมไทยยาวนานนับสิบปี

สองสิ่งที่ว่านั่นคือ นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค (ประกันสุขภาพถ้วนหน้า) และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน)

รายงานข่าวระบุว่า พรรคประชาชาติได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ผลักดันนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค ซึ่งฟันฝ่าอุปสรรคนานานัปการในการผลักดันให้เกิดนโยบายนี้ขึ้น อุปสรรคสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น คือ ไม่มีใครเชื่อว่านโยบายนี้จะทำได้จริง แม้กระทั่งบุคลากรในวงการสาธารณสุขเอง ซึ่งต่างก็คิดว่านโยบายนี้จะทำให้ประเทศชาติเสียค่าใช้จ่ายอย่างไม่จบสิ้นกับการรักษาพยาบาลคนยากไร้ แต่สุดท้ายแล้ว 16 ปีที่ได้ดำเนินนโยบายนี้ ทำให้นโยบายนี้เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่เปลี่ยนคุณภาพชีวิตประชากรชาวไทยได้มากที่สุดนโยบายหนึ่ง เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางด้านนโยบายสาธารณสุขของโลก ที่แม้กระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ การได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับ นพ.สุรพงษ์ ทำให้ได้เห็นว่า ความเชื่อมั่นในหลักมนุษย์นั้นเท่าเทียมกัน ได้สร้างนโยบายที่มีคุณูปการต่อการสาธารณสุขไทยมากเพียงใด พรรคประชาชาติจะเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับหลักคิดแห่งความเท่าเทียมกัน นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะต้องดำรงต่อไป และต้องลดความเหลื่อมล้ำให้มากกว่าเดิม สร้างสวัสดิภาพที่ดียิ่งกว่าเดิมแก่ประชาชนคนไทย ในภายภาคหน้า

อย่างไรก็ตาม คุณหมอท่านที่สองที่พรรคประชาชาติได้ร่วมแลกเปลี่ยนด้วยคือ นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร จักษุแพทย์ผู้ร่วมบุกเบิกโรงพยาบาลบ้านแพ้ว(องค์การมหาชน) และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว โรงพยาบาลบ้านแพ้วเดิมทีเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอขนาดเล็กขนาด 30 เตียง มีแพทย์ 10 คน ในปี พ.ศ.2543 เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หนึ่งในคำแนะนำของสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ให้แก่รัฐบาลคือ ให้ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐที่ไม่จำเป็นออก และหนึ่งในนั้นคือการลดค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข รัฐบาลจึงได้เสนอทางเลือกให้โรงพยาบาลที่มีความพร้อมทางการเงิน ออกจากระบบรัฐบาล เป็นองค์การมหาชน ซึ่งในสมัยนั้นมีหลายโรงพยาบาลออกจากระบบ 18 ปีผ่านไป โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นโรงพยาบาลเดียวที่ยังคงเป็นองค์การมหาชน และปัจจุบันได้ขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง มีแพทย์ 150 คน มีรายได้จากทุกสาขารวมกันเกือบ 1,800 ล้านบาท ไม่เคยประสบภาวะขาดทุน ทั้งๆที่คิดค่ารักษาพยาบาลในราคาเดียวกับโรงพยาบาลรัฐ เป็นโรงพยาบาลที่มีหน่วยจักษุเคลื่อนที่ที่มีความสามารถสูงที่สุดในประเทศไทย ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ในผู้ป่วยต้อกระจกหลายหมื่นราย ในทุกอำเภอของประเทศไทย

สิ่งสำคัญที่พรรคประชาชาติได้เรียนรู้จากโรงพยาบาลบ้านแพ้วคือรูปแบบการบริหารโรงพยาบาลแบบองค์กรมหาชน ที่ลดการรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง และเพิ่มบทบาทของท้องถิ่นชุมชนเข้ามาร่วมบริหารโรงพยาบาล โดยการคัดเลือกให้ตัวแทนจากชุมชนถึง 3 คน เข้ามาร่วมเป็น 3 ใน 12 บอร์ดบริหารสูงสุดของโรงพยาบาลที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจในการกำหนดแนวทางการบริหารโรงพยาบาล ซึ่งทำให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วสามารถขยายขีดความสามารถของโรงพยาบาลออกไปบริการทั่วประเทศได้ แต่ยังคงรักษามาตรฐานคุณภาพการบริการที่ดีเลิศให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว

ทั้งนี้ พรรคประชาชาติเชื่อว่า การพัฒนานโยบายสาธารณสุขเพื่อให้มนุษย์เท่าเทียมกัน จะเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้คนไทยเป็นประชาชนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลุดพ้นความข้อจำกัดด้านสุขภาวะได้