ภาคปชช. ร้อง ‘บิ๊กตู่’ ช่วยประเทศชาติ ปม ‘สิทธิบัตรกัญชา’ จี้ ‘อภ.-ม.รังสิต’ ฟ้อง!!

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ และนักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมแถลงข่าวกรณีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ดำเนินการถอนสิทธิบัตรกัญชา ทั้งที่ขัดพ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ และส่งผลกระทบต่อการผลักดันกฎหมายคลายล็อกกัญชาทางการแพทย์ นำไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เลื่อนการพิจารณากฎหมาย แม้ครม.เห็นชอบแล้วก็ตาม

โดย น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ แถลงข่าวว่า  กรณี นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่อ้างว่าไม่สามารถยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริง อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2542 ซึ่งสามารถยกคำขอได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตรวจสอบเบื้องต้น การประกาศโฆษณา และการตรวจสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาควรดำเนินการทันที หรืออย่างน้อยต้องออกมาแสดงต่อสาธารณชนว่าจะต้องดำเนินการอะไรอย่างไรบ้าง ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลจะต้องพิจารณาเอาผิด ถ้าหากยังไม่ดำเนินการก็จะสนับสนุนให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถทำวิจัยต่อได้นั้น ให้ฟ้องร้องทั้งต่อศาลปกครองในเรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 และฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญา เพราะคำขอสิทธิบัตรนั้นเป็นขัดกฎหมายสิทธิบัตร ซึ่งภาคประชาสังคมพร้อมสนับสนุนข้อมูลต่างๆ ในการฟ้องร้อง นอกจากนี้ อาจระดมพลคนกัญชาที่จะได้รับผลกระทบจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ให้ยื่นฟ้องด้วย แต่อาจใช้เวลานานเพราะต้องพิสูจน์ต่อศาลว่าเป็นผู้มีสิทธิฟ้องจริงหรือไม่

“ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเรียกกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไปชี้แจงเรื่องสิทธิบัตรกัญชานั้น ทางเครือข่ายกำลังติดต่อ สนช.ไปว่าขอเข้าไปฟังเพื่อไปถกแถลงหาทางออก เพื่อให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำตามกฎหมายของตัวเองด้วย เนื่องจากเรื่องส่งผลกระทบมาก เพราะปัญหาสิทธิบัตรทำให้การพิจารณากฎหมายคลายล็อกกัญชาติดขัด สนช.ไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ แม้ครม.จะเห็นชอบแล้ว ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้กฎหมายคลายล็อกไม่ได้ อภ.วิจัยพัฒนาหรือเดินหน้าโรงงานสารสกัดก็ทำไม่ได้ทั้งหมด” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ขอตั้งข้อสังเกต จริงๆ กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ต้องกลัวเรื่องการยกคำขอว่าจะถูกบริษัทต่างชาติฟ้อง เนื่องจากขณะนี้เรายังไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพราะถ้าหากเข้าร่วมมีความเป็นไปได้ที่จะมีข้อตกลงเรื่องนักลงทุนฟ้องร้องรัฐได้ แต่เรื่องนี้น่ากังวลเนื่องจากขณะนี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอยากเข้าร่วม CPTPP และที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็มีความพยายามในการเข้าถึงเทคโนโลยีชีวภาพของไทยมาโดยตลอด จึงน่าสังเกตในเรื่องของสิทธิบัตรกัญชา อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าถึงทรัพยากรทางชีวภาพหรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม กรมทรัพย์สินฯต้องปกป้องประเทศไทยและดำเนินการยกเลิกสิทะบัตรกัญชาที่ไม่เข้าเกณฑ์ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องกลัวฟ้องร้อง เพราะยังไม่มีช่องทางไหนที่ฟ้องร้องได้

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าวว่า ขณะนี้สิทธิบัตรกัญชามีเพิ่มออกมาเรื่อยๆ จากเดิมที่พบว่ามี 11 สิทธิบัตร ตอนนี้พบอีก 1 สิทธิบัตร โดยพบว่ามี 1 สิทธิบัตรละทิ้งคำขอโดยสมัครใจโดยผู้ยื่นคำขอ ยังอยู่ในชั้นประกาศโฆษณา 8 คำขอ และอยู่ระหว่างตรวจสอบการประดิษฐ์ 3 คำขอ ซึ่งกรมฯ จะต้องเอาข้อมูลคำขอเกี่ยวกับสิทธิบัตรกัญชามากางดูทั้งหมดว่ามีเท่าไร และต้องตรวจสอบเบื้องต้นว่าขัดต่อมาตรา 9 หรือไม่ คือ เป็นเรื่องของวิธีใช้รักษาและการจดสารธรรมชาติจากพืช เช่น บางคำขอใช้รักษาโรคลมชัก ลมบ้าหมู ซึ่งก็มีอยู่ในภูมิปัญญาของไทย ทั้งนี้ หากเข้าข่ายก็ยกคำขอทันที ส่วนที่ผ่านมาถึงขั้นประกาศโฆษณาแล้ว ก็สามารถตรวจสอบว่าขัดกับ ม.9 หรือไม่ หากขัดอธิบดีก็มีอำนาจยกคำขอหรือถอนออกได้เช่นกัน ส่วนที่อยู่ในขั้นตรวจสอบสิ่งประดิษฐ์ ก็ต้องเร่งตรวจสอบว่ามีความใหม่ มีนวัตกรรมที่สูงขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ก็ยกคำขอออกไป ถ้าไม่ดำเนินการยกเลิกตามกฎหมาย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่เห็นออกมาพูดอะไร อย่างนี้ไม่จริงใจที่จะปกป้องความรู้นวัตกรรมของไทย แล้วให้บริษัทต่างชาติมาลงทุนหรือไม่

“เรื่องนี้ไม่ใช่แค่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น รัฐบาล ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทีมเศรษฐกิจ นำโดยนายสมคิด จาตุศีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาทำอะไรให้เห็นถึงการปกป้องประชาชนคนไทย หากไม่ทำอะไรเลยแสดงว่ารัฐบาลไม่จริงใจที่จะปกป้องสิทธิของประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม อยากให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่เดือดร้อนโดยตรง และมหาวิทยาลัยรังสิต ที่วิจัยสารสกัดกัญชาและนักวิจัยทุกคนที่ทำเรื่องนี้ แพทย์พื้นบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กำลังรอความหวังการใช้กัญชาบำบัดโรค เช่น โรคมะเร็ง ได้รับผลกระทบมากที่สุด จะต้องดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิตัวเองและภาคประชาชนพร้อมจะสนับสนุนข้อมูลและร่วมปกป้องสิทธิของคนไทย” นายวิฑูรย์กล่าว

ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบฐานข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า จากที่มี 11 คำขอสิทธิบัตร ตอนนี้พบเพิ่มอีก 1 สิทธิบัตรแล้วที่มีการประกาศโฆษณาบนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่เกี่ยวกับกัญชา เห็นได้ชัดว่าข้อมูลไม่มีความเสถียร เพราะสามารถพบเพิ่มได้ตลอดเวลา หรือแม้แต่ 11 คำขอเดิมที่พบก่อนหน้านี้ ก็พบว่า มี 1 คำขอที่ละทิ้งคำขอของตัวเอง แต่ประเด็นสำคัญคือมี 1 คำขอ คือ เลขที่คำขอ 0901002472 วันที่ยื่นคำขอ คือ  03/06/2552 วันที่ประกาศโฆษณา 19/08/2556 ซึ่งระบุว่าต้องยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ภายในวันที่ 19/08/2561 ที่เลยกำหนดเวลาตรวจสอบสิ่งประดิษฐ์แล้ว สามารถละทิ้งได้ แต่ยังอยู่คงสถานะอยู่บนเว็บไซต์ ซึ่งไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเร่งตรวจสอบคำขอทั้งหมดที่เกี่ยวกับกัญชา โดยตามมาตรา 28 พ.ร.บ.สิทธิบัตร หากขัดต่อมาตรา 9 ให้ยกเลิกคำขอนั้นได้ทันที แม้จะประกาศโฆษณาไปแล้ว เพราะกฎหมายระบุให้เป็นหน้าที่ของอธิบดี และอธิบดีควรต้องปรับปรุงระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ เพราะจะไม่ทราบเลยว่ามีงานวิจัยอะไรที่ขอสิทธิบัตรบ้างจนกว่าจะมีการประกาศโฆษณา ถือเป็นหลุมดำ และแม้จะประกาศโฆษณาแล้วก็แทบจะไม่ทราบ เพราะไม่เปิดเผยสาธารณชนและขั้นตอนก็ยิบย่อยในการจะขอรายละเอียด อีกทั้งระยะเวลาตรวจสอบสิ่งประดิษฐ์ 5 ปีก็ยาวนานเกินไป ควรปรับแก้ให้เหลือเพียง 1 ปี ซึ่งเคยเสนอในร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับใหม่แล้ว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขณะนี้ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งตัวกฎหมายที่ไม่สามารถคลายล็อกได้ สนช.ต้องรอความชัดเจน อภ.ลงทุนงบประมาณสำหรับการสร้างโรงงานสกัดสารจากกัญชา ม.รังสิตมีงานวิจัยการพัฒฯาเกี่ยวกับกัญชา ทุกอย่างติดขัดไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ อยากให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการตอบคำถามแต่ละข้อว่าผิดต่อมาตรา 5 และ 9 แค่ไหนอย่างไร หากมีคำขอที่ขัดจริงๆ ก็ต้องถอนออกไป แต่หากคิดว่าไม่ขัดก็ต้องแจงออกมา หากผิดพลาเจริงๆ ก็ต้องยอมรับ ไม่ว่าจะผิดพลาดโดยสุจริตใจหรือไม่ก็ตาม แต่หากไม่ตอบประเด็นนี้คงต้องนำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง ซึ่งผู้เสียหายโดยตรงคือ อภ.และ มหาวิทยาลัยรังสิต