บิ๊กป๊อก สั่งเดินหน้าจัดระเบียบ ลั่น เข้าใจความลำบากปชช. แต่ถนนมีไว้สัญจร ไม่ใช่ค้าขาย

“บิ๊กป๊อก” แจง​ ตาม กม.ฝ่ายรัฐไม่ได้ทำผิด​ จึงไม่ต้องเยียวยา​ ยัน​ ผู้ค้าจำเป็นต้องจัดระเบียบค้าขายทางเท้าใน กทม. ชี้​ รัฐใช้วิธีช่วยเหลือได้หาก กม.อนุญาต เชื่อไม่ทำไทยขัดนิยามเมืองสตรีทฟู้ด​ เพราะต้องดูเรื่องสุขอนามัยด้วย

เมื่อวันที่​ 13​ พฤศจิกายน​ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​มหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เรียกร้องให้เร่งบรรเทาผลการจัดระเบียบแผงลอยทั่วกรุงเทพ​มหานคร​ ว่าเรื่องความเดือดร้อนของผู้ค้าขาย​เราเข้าใจว่าเขาไม่มีที่ทำกิน ไม่สามารถทำมาหากินได้ เข้าใจความลำบากของประชาชน แต่ต้องอยู่บนหลักเกณฑ์ข้อพิจารณา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้บอกให้หาทางช่วยเหลือ โดยการจัดระเบียบของกรุงเทพมหานครเราต้องเรียนให้สังคมทราบว่าทางเท้ามีไว้ให้คนสัญจร ดังนั้น ถ้าให้คนไปค้าขายจะมีปัญหาในเรื่องกฎหมายว่า กทม.ทำได้หรือไม่ได้ และเมื่อนำทางเท้าไปใช้ก็จะมีคนเดือดร้อนในเรื่องการสัญจรทางเท้า ขณะเดียวกันยังรวมไปถึงเรื่องภาพลักษณ์ของกรุงเทพฯ ดังนั้นต้องดูว่าที่ใดควรจัด ที่ใดควรผ่อนผันได้ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยได้ไปจัดหาที่ให้ทำการค้าขาย ซึ่งนายกฯได้สอบถามในเรื่องนี้ว่าประชาชนเขาไม่ไปหรือ ตนจึงตอบว่าส่วนใหญ่ก็ไป แต่สิ่งสำคัญคือไปแล้วเขาขายไม่ได้ ฉะนั้น​จะต้องหาทางแก้ไขว่าจะช่วยเหลืออย่างไรให้ประกอบอาชีพได้

“ถนนบางสายจำเป็นต้องสะอาดเรียบร้อย เพราะกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาและประชุมหารือกันต่อไป แต่ที่สำคัญถ้ากฎหมายผ่อนผัน อนุญาตให้ทำได้ เราก็มีมาตรการผ่อนผันที่ทำให้ ซึ่งก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่ต้องดูแล เพราะหากเจ้าหน้าที่ไม่ดูแลและมีคนไปร้องเรียน ก็จะโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีก ส่วนที่เรียกร้องให้มีการเยียวยา ตามกฎหมายไม่สามารถใช้กับกรณีนี้ได้ เพราะการเยียวยาฝ่ายรัฐจะต้องเป็นผู้กระทำผิด แต่หากเปลี่ยนเป็นเรื่องการช่วยเหลือ​ ทำได้ ซึ่งกฎหมายต้องอนุญาตด้วย ทั้งนี้เรากำลังดำเนินการเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องของสุขอนามัยของอาหารที่นำมาขาย ก่อนจะนำเสนอนายกฯต่อไป” พล.อ.อนุพงษ์ระบุ

เมื่อถามว่ากรณีนี้จะขัดกับที่เมืองไทยเป็นเมืองสตรีทฟู้ดหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ไม่ขัด สตรีทฟู้ดไม่ได้หมายความว่าให้ไปตั้งบนฟุตปาธทุกแห่ง แบบนี้ไม่ใช่สตรีทฟู้ด มีคนพิจารณาว่าน่าจะเป็นแบบร้านดังๆ ที่ไม่ใช่ภัตตาคารแต่อยู่ข้างถนน แต่ไม่ใช่ร้านที่อยู่บนฟุตปาธแล้วจะเรียกสตรีทฟู้ดหมด ขอให้ไปนิยามศัพท์มาใหม่ ตนถามกลับไปว่าคนที่ทำกับข้าวเข้าห้องน้ำที่ไหน ล้างมืออย่างไร ล้างจานอย่างไร​ ตอบได้ไหมว่าสุขอนามัยเป็นอย่างไร ไม่ใช่พูดกันส่งเดช คนเขามาเที่ยวกันทั่วโลก ถ่ายรูปกลับไป