‘ป.ป.ช.’ ขยาย 60 วัน ให้ กก.สภามหา’ลัยลาออก ถ้าไม่ยื่นทรัพย์สิน ชี้พระชั้นผู้ใหญ่ก็ต้องยื่น

“ป.ป.ช.” จ่อขยายเวลา 60 วัน ให้เวลา กก.สภามหา’ลัยลาออก ถ้าไม่ยื่นทรัพย์สิน ชี้ ‘สมเด็จพระสังฆราช’ ไม่ต้องยื่น

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่โรงแรมริชมอนด์ ถ.รัตนาธิเบศร์ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหากรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ เตรียมยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจประกาศ ป.ป.ช.ที่ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ว่า กรณีดังกล่าว ป.ป.ช.ได้ส่งตัวแทนไปหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยรัฐบาลและ สนช.เป็นห่วงกรณีนี้พอสมควร จากนั้นในการประชุม ป.ป.ช.ในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ ก็จะมีการหยิบยกประเด็นปัญหารวมถึงข้อห่วงใยมาพิจารณา ส่วนที่มีการขอให้ ป.ป.ช.ทบทวนบางตำแหน่งที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น ยังยืนยันว่าผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย แต่เมื่อ ป.ป.ช.ออกประกาศไปแล้ว ก่อให้เกิดผลกระทบ ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยบางคนประสงค์ที่จะลาออก ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวทั้งฉบับ ไม่ใช่เฉพาะกรรมการสภามหาวิทยาลัย

พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อกฎหมาย แนวทางการปฏิบัติ ความเสมอภาค รวมถึงหลักการของกฎหมายที่มุ่งไปที่ความโปร่งใส และมองถึงผลกระทบที่จะตามมา เพราะประกาศครั้งนี้แตกต่างจากประกาศตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ป.ป.ช.พ.ศ.2542 ที่ ป.ป.ช.สามารถระบุได้ว่าจะให้ใครมาแสดงบัญชีทรัพย์สินบ้าง แต่กฎหมายใหม่ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจดังกล่าว ดังนั้นเราจึงมีหน้าที่ประกาศให้ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงทั้งหมดมาแสดงบัญชีทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม การประชุม ป.ป.ช.ในวันที่ 13 พฤศจิกายน จะยังไม่ตกผลึกในแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะขยายเวลาในการยื่นบัญชีทรัพย์สินออกไปเท่าไหร่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเพราะจากเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธันวาคม หากขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน รวมเป็น 60 วัน ก็จะมีเวลาเหลือเฟือเพื่อให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มีความประสงค์ที่จะลาออกได้เตรียมตัว เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่จะต้องหาคนมาทดแทนกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ลาออก แนวทางนี้จะทำให้การดำเนินการตามกฎหมายไม่เกิดความสะดุด เพราะเราต้องดูเหตุผลความจำเป็นที่ต้องออกประกาศฉบับนี้มา การจะทบทวนตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเพื่อจะได้ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ต้องมีเหตุผลที่สามารถรับฟังได้ และสังคมเองก็มีความเห็นเป็นสองด้าน ที่สุดแล้วต้องดูว่าเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร

“การจะแก้ไขประกาศหรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่ที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยหรือใครจะลาออก การจะลาออกหรือไม่เป็นการตัดสินใจของแต่ละคน เป็นดุลพินิจของแต่ละคน เพราะการจะทำงานหรือไม่ก็อยู่ที่ความสมัครใจ เราไม่ได้ออกกฎหมายบังคับว่าท่านต้องเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย คิดว่าจะขยายเวลาไปไม่ต่ำกว่า 60 วัน เพื่อให้คนที่คิดจะลาออกได้มีเวลาคิดว่าจะอยู่ต่อหรือไม่” พล.ต.อ.วัชรพลกล่าว

เมื่อถามว่า ครม.เป็นห่วงกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศดังกล่าวด้วย พล.อ.วัชรพลกล่าวว่า ประเด็นนี้ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีความชัดเจนว่าองค์สมเด็จพระสังฆราชไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศ ป.ป.ช. เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานสงฆ์ที่โปรดเกล้าฯโดยพระมหากษัตริย์ แต่ไม่รวมถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในสภามหาวิทยาลัย ดังนั้นพระเถระหลายๆ รูปก็จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการแก้ไขประกาศให้มีความชัดเจนมากขึ้น