แบงก์แข่งดุชิงฐานลูกค้าไฮเอนด์ เปิดสมรภูมิรบบัตรเครดิตโคแบรนด์ อัดโปรโมชั่นโค้งท้ายปี…กระตุ้นยอดใช้จ่าย

หลังจากธนาคารพาณิชย์เริ่มทรานส์ฟอร์มรองรับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเริ่มจากฟรีค่าธรรมเนียมการโอนที่ส่งผลกระทบต่อยอดรายได้ของธนาคารลดลง ในห้วงระยะเวลาช่วงที่ผ่านมาจะเห็นตลาดบัตรเครดิตเปิดสมรภูมิแข่งขันดุเดือดมาโดยตลอด มีผู้เล่นหลากหลายทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ไช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ที่เป็นผู้ออกบัตรเครดิต โดยรายได้ของธุรกิจบัตรเครดิตมาจาก 2 ส่วน คือ รายได้ดอกเบี้ยหากลูกค้ามีการจ่ายขั้นต่ำที่ 10% หรือมีการแบ่งชำระค่าสินค้า ปัจจุบันบัตรเครดิตมีอัตราดอกเบี้ย 18% ต่อปี จากเดิมที่อัตราดอกเบี้ยเคยอยู่ที่ 20% แต่ได้ปรับลดลงมาตั้งแต่ปี 2560 หลังจากการปรับเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อีกส่วนหนึ่ง คือ รายได้จากค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า หรือจากการใช้งานบัตรเครดิตค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนกรณีนำบัตรไปใช้จ่ายต่างประเทศ ค่าธรรมเนียมรายปีของบัตรเครดิตซึ่งแล้วแต่นโยบายของผู้ออกบัตร และการกำหนดเงื่อนไขว่าจะกำหนดอย่างไร ส่วนใหญ่หากลูกค้าใช้จ่ายตามมูลค่าที่กำหนดจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี นอกจากนี้ มีผู้ออกบัตรบางรายที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมรายปี เป็นต้น

ใช้จ่ายผ่านบัตรโตต่อเนื่อง

หากพิจารณายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตพบว่ามีอัตราการขยายตัว ต่อเนื่องโดยก่อนหน้านี้ขยายตัวในระดับเลขสองหลัก ส่งผลต่อรายได้และกำไรของธุรกิจบัตรเครดิตให้ดีตาม แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาตามภาวะเศรษฐกิจและฐานการใช้จ่ายที่อยู่ในระดับสูงการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอาจจะชะลอตัวลงมาขยายตัวในระดับเลขหลักเดียวแต่ยังอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ทำให้ทุกผู้เล่นในตลาดนี้ยังมีการทำการตลาด จัดโปรโมชั่น ออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายบัตรเครดิตโดยเน้นอิงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงแรม สายการบิน ประกัน กองทุน สุขภาพและความงาม ทั้งนี้ ระยะหลังเริ่มเห็นการทำการตลาดบัตรเครดิตผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจที่มีการค้าขายออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) มากขึ้น และมีแพลตฟอร์มให้บริการอีคอมเมิร์ซที่เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วเข้ามาให้บริการ

ฐานบัตรใหม่เริ่มอิ่มตัว

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานจำนวนบัตรเครดิต ปี 2561 เดือนมกราคม-มิถุนายน พบว่า จำนวนบัตรยังขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเดือนมกราคมอยู่ที่ 20.38 ล้านใบ เพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ เป็น 20.49 ล้านใบ มีนาคมอยู่ที่ 20.60 ล้านใบ และเพิ่มเป็น 20.72 ล้านใบในเดือนเมษายน

ขณะที่เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนอยู่ที่ 20.86 ล้านใบ และ 21.03 ล้านใบ ตามลำดับ แต่หากพิจารณาจำนวนบัตรเครดิตรายปี 2554-2560 ที่ผ่านมา

พบว่าจำนวนบัตรเครดิตขยายตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วในปีก่อนๆ ปัจจุบันยังขยายตัวแต่อัตราชะลอลง โดยปี 2554 อยู่ที่ 15.32 ล้านใบ ปี 2555 เพิ่มเป็น 16.87 ล้านใบ ปี 2556 อยู่ที่ 18.54 ล้านใบ และปี 2557 อยู่ที่ 20.30 ล้านใบ ก่อนจะลดลงมาที่ 18.97 ล้านใบ ในปี 2558 ส่วนปี 2559-2560 ขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามลำดับอยู่ที่ 20.13 และ 20.33 ล้านใบ

ตลาดบัตรเครดิตใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ปัจจุบันมีจำนวนบัตรอยู่ที่ 21 ล้านใบ การขยายฐานลูกค้าจึงยังมีความสำคัญทั้งลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามา เช่น นักศึกษาจบใหม่ กลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงาน คนที่มีรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และลูกค้าเดิมที่อาจจะมีการถือบัตรเครดิตอยู่แล้ว ที่อาจจะมีการประเมินข้อมูลใช้จ่ายทำการตลาดรายเซ็กเมนต์และตามไลฟ์สไตล์มากขึ้น และนำเสนอบัตรที่ได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า สร้างให้เกิดความจงรักภักดีกับแบรนด์ (แบรนด์รอยัลตี้) เพื่อให้เป็นบัตรใบแรกที่ลูกค้านึกถึงและหยิบมาใช้

บัตรไฮเอนด์-โคแบรนด์คึกคัก

การขยายฐานลูกค้าที่มีความท้าทายมากขึ้น กลยุทธ์ที่ค่ายบัตรเครดิตโดยเฉพาะสถาบันการเงินนำมาใช้กันมากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยอาศัยจุดแข็งจากแบรนด์มารวมกัน คือ บัตรเครดิตร่วมกับพันธมิตร (บัตรโคแบรนด์) จากอุตสาหกรรมต่างๆ สำหรับ ธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมกับสยามพิวรรธน์ ผู้บริหาร 3 ศูนย์การค้า ได้แก่ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ภายใต้บัตรเครดิตวันสยามกสิกรไทย ซึ่ง นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธุรกิจบัตรเครดิตกสิกรไทยจะเน้นการพัฒนาเป็นไลฟ์สไตล์ เครดิตการ์ด สร้างประสบการณ์และมอบสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่ม

ปัจจุบันผู้ถือบัตรเครดิตกสิกรไทยมีจำนวน 2.6 ล้านใบ สำหรับบัตรเครดิตวันสยามกสิกรไทย สามารถเก็บคะแนนสะสมสูงสุดถึงสามเท่าจากร้านค้าในวันสยาม และคะแนน 1,000 คะแนน มีมูลค่าสูงสุดเท่ากับ 300 บาท จากบัตรเครดิตทั่วไปที่ 100 บาท ทั้งยังสามารถรับเมนูอาหารและขนมจากร้านดังมากมายที่ร่วมรายการฟรีทุกสัปดาห์, รับบัตรชมภาพยนตร์, ได้รับเชิญการเข้าร่วมชมแฟชั่นโชว์ และอำนวยความสะดวก ผู้ถือบัตรสามารถประทับตราบัตรจอดรถฟรีสูงสุดวันละ 8 ชั่วโมง โดยไม่ต้องมียอดซื้อ และมีพื้นที่จอดรถที่สำรองไว้เฉพาะสมาชิก

ขณะที่ไทยพาณิชย์ ได้ร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์เปิดตัว บัตรเครดิต เอสซีบีเอ็ม ประกอบด้วย บัตรเครดิต เอสซีบี เอ็ม ไลฟ์ วีซ่า แพลตินัม สำหรับผู้ที่มีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป บัตรเครดิต เอสซีบี เอ็ม ลักซ์ วีซ่าซิกเนเจอร์ สำหรับผู้ที่มีรายได้ 100,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และบัตรเครดิต เอสซีบี เอ็ม เลเจนด์วีซ่า อินฟินิท สำหรับลูกค้าที่ได้รับการเรียนเชิญให้สมัครบัตรเท่านั้น มีสิทธิประโยชน์จากการใช้จ่ายในห้างและนอกห้าง อาทิ ส่วนลดสูงสุด 10% รับคะแนนสะสมสูงสุด 4 เท่า และสามารถนำคะแนนมาแลกรับสินค้าได้ทุกชิ้นทั้งห้าง

เน้นเจาะไลฟ์สไตล์ลูกค้า

ด้านธนาคารธนชาต ธีรนุช ขุมทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจลูกค้ารายย่อยธนาคารธนชาต กล่าวว่า ได้กระตุ้นตลาด

ท่องเที่ยวปลายปีผ่านบัตรเครดิตธนชาตบลูไดมอนด์ ซึ่งสามารถสะสมคะแนนไว และแลกไมล์ได้ทั่วโลกทุกสายการบิน โดยใช้จ่ายผ่านบัตร ในหมวดร้านอาหารทุก 12.50 บาท แลกได้ 1 ไมล์ หรือใช้คะแนนสะสม ทุก 1,000 คะแนน แลกรับส่วนลดแทนเงินสด 100 บาท ขณะที่ธนาคารยูโอบี ได้เปิดตัวบัตรยูโอบี โยโล่ แพลทินัม ซึ่งโยโล่ หรือ YOLO-You Only Live Once ก็คือ การใช้ชีวิตให้เต็มที่เพราะเกิดมาแค่ครั้งเดียว ให้สิทธิประโยชน์ทั้งการเดินทาง ทั้งรถไฟฟ้าและขนส่งสาธารณะ ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องสำอางและความงาม รวมทั้งร้านอาหาร นอกจากนี้ ยังได้จัดโปรโมชั่นร่วมกับศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี

มอบสิทธิประโยชน์ ผู้ถือบัตรเครดิตยูโอบี กินเท่าไหร่จ่ายครึ่งเดียว แลกรับเครดิตเงินคืน 50% เพียงใช้คะแนนเท่ายอดซื้อ จำกัด 1,000 คะแนน/ลูกค้า/วันศุกร์ ในวันศุกร์สุดท้ายของเดือน โดยที่ผ่านมา ยูโอบีมีชาคริต แย้มนามเป็นพรีเซ็นเตอร์ในการทำการตลาด

ซิตี้แบงก์ดึงชมพู่เป็นพรีเซ็นเตอร์

สำหรับธนาคารซิตี้แบงก์ ก็รุกตลาดกลุ่มไฮเอนด์เต็มที่ โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวบัตรเครดิต ซิตี้ พรีเมียร์ ซานดีพ บาตระ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ให้มุมมองว่า ในตลาดยังขาดบัตรเครดิตไทยสำหรับการช้อปปิ้งที่แท้จริง บัตรเครดิตส่วนมากให้สิทธิประโยชน์แค่ในบางห้างสรรพสินค้าทำให้มีช่องว่างในตลาดที่ใหญ่มากและซิตี้แบงก์ต้องการลดช่องว่าง สามารถใช้จ่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยไปจนถึงร้านค้าปลอดภาษีและห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียและประเทศที่สามของซิตี้แบงก์ทั่วโลกที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตนี้ โดยมี อารยา เอ ฮาร์เก็ต พรีเซ็นเตอร์แคมเปญการตลาดของบัตรเครดิตซิตี้ พรีเมียร์ ได้สิทธิพิเศษ อาทิ รับคะแนนสะสมซิตี้ รีวอร์ดส์ 4 เท่า สำหรับการใช้จ่ายทุกๆ 25 บาท ณ ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลอดภาษีทั่วโลก รับส่วนลดทันที 15% เมื่อใช้คะแนนเท่ากับยอดซื้อที่ห้างสรรพสินค้าที่ร่วมรายการ รับเครดิตเงินคืนที่ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต กูร์เมต์ มาร์เก็ต วิลล่า มาร์เก็ต ฟู้ดแลนด์ ที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์ ทั่วประเทศ บริการที่จอดรถสำรองพิเศษ ซื้อตั๋วภาพยนตร์ราคาพิเศษ บริการห้องรับรองพิเศษที่ มิราเคิล เลานจ์ สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ หรือที่สนามบินนานาชาติ ดอนเมือง บริการรถลิมูซีนรับส่งจากบ้านถึงสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิสำหรับการซื้อตั๋วเดินทางไปกลับไปต่างประเทศผ่าน โกลบอลยูเนียน เป็นต้น

กรุงศรีเปิดตัวบัตรสยามทาคาชิมาย่า

กลยุทธ์การตลาดของธุรกิจบัตรเครดิตจะเห็นหลากหลายมากขึ้นและจะเน้นกลุ่มลูกค้าเฉพาะมากขึ้นโดยใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรีคอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์หนึ่งที่ทำกันมานานแล้วคือ บัตรเครดิตโคแบรนด์ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของฐานลูกค้าใหม่หรือผู้ถือบัตรใหม่ หากนับกลุ่มเริ่มทำงาน หรือเฟิร์สต์จ็อบเบอร์นั้น จะมีอยู่ราวปีละ 4 แสนคน ขณะเดียวกันแต่ละปีก็มีคนยกเลิกหรือปิดใช้บัตรเครดิต ดังนั้น การจะขยายฐานลูกค้าได้เร็วจะต้องร่วมกับธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งฐานลูกค้า อย่างในต่างประเทศมีการออกบัตรโคแบรนด์ร่วมกับห้างสรรพสินค้า สายการบิน หรือค่ายมือถือต่างๆ โดยบัตรโคแบรนด์นี้เป็นบัตรที่ใช้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น อาจจะไม่ใช่บัตรเครดิตใบแรก

ในสัปดาห์นี้ ธนาคารจะเปิดตัวบัตรเครดิตโคแบรนด์ สยาม ทาคาชิมายา ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์จากญี่ปุ่นแห่งใหม่ที่อยู่ในโครงการไอคอนสยาม ซึ่งทาคาชิมายาเป็นพันธมิตรกับเอ็มยูเอฟจี บริษัทแม่ของธนาคารในญี่ปุ่นอยู่แล้ว กลุ่มลูกค้าหลักของบัตร คือ กลุ่มที่อยู่อาศัยใกล้กับโครงการไอคอนสยาม ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาอยู่ในไทย กลุ่มคนที่ชอบอาหารและสินค้าญี่ปุ่น มีรายได้ตั้งแต่ 15,000-75,000 บาทต่อเดือน ซึ่งธนาคารจะมีการมอบสิทธิประโยชน์พิเศษให้กับลูกค้า อาทิ บริการที่จอดรถในห้างสรรพสินค้าสำหรับผู้ถือบัตร ส่วนลดในการช้อปปิ้งต่างๆ และบริการห้องรับรอง(เลานจ์)

กลุ่มลูกค้าไฮเอนด์มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อใบเสร็จสูง แต่ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายแล้วชำระคืนเต็มจำนวน ดังนั้น รายได้จากดอกเบี้ยของกลุ่มนี้ไม่มากนัก แต่ลูกค้ากลุ่มนี้มีการเดินทางและมีการใช้จ่ายต่างประเทศ ซึ่งทำให้ยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียมเข้ามา อย่างไรก็ตาม รายได้ของธุรกิจบัตรเครดิตลดลงราว 20% จากดอกเบี้ย 20% เหลือ 18% หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับปรุงเกณฑ์การให้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว แต่ปีนี้แรงกดดันจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ไม่มากนัก ทำให้ยังสามารถทำโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดได้ ช่วงที่เหลือของปีนี้แนวโน้มการใช้จ่ายยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะใน 3 หมวดสำคัญ คือ สมาร์ทโฟนซึ่งเพิ่งมีการเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่ การเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการช้อปปิ้งŽ นายฐากรระบุ

เคทีซีรีเฟรชโคแบรนด์ร่วมบางกอกแอร์

ฟากนอนแบงก์รายใหญ่ในตลาดบัตรเครดิต อย่าง บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี โดย พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต เคทีซี ระบุถึงแผนธุรกิจของเคทีซีจะเน้นขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นปัจจุบันฐานลูกค้าส่วนใหญ่อัตราเงินเดือน 15,000-75,000 บาทต่อเดือน อยากจะขยายกลุ่มที่ไม่มีสลิปเงินเดือนเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนฐานลูกค้า

ผู้ประกอบการหรือกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งซึ่งเป็นเป้าหมายของหลายสถาบันการเงินนั้น ลูกค้ากลุ่มนี้เคทีซีไม่ได้ทำการตลาด แต่จะช่วยเข้าไปบริหารให้กับธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดยกรุงไทยมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้อยู่พอสมควร หรือเรียกว่า เคทีซี-เคทีบี พรีเชียสพลัส โดยให้สิทธิพิเศษ ต่างๆ อาทิ บริการสำรองพื้นที่จอดรถบริการอัพเกรดตั๋วโดยสารภายในประเทศจากชั้นประหยัดเป็นชั้นธุรกิจ บริการห้องรับรองพิเศษระหว่างประเทศของการบินไทย ส่วนลดประกันรถยนต์ ชั้น 1 โดยทิพยประกันภัย เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เคทีซียังมีการเปิดตัวบัตรโคแบรนด์ร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ บางจาก รวมทั้งการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งจะเตรียมแถลงข่าวปรับภาพลักษณ์บัตรเคทีซี บางกอกแอร์เวย์สใหม่ด้วยภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะมีการปรับรูปแบบและมอบสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้าสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น

พัฒนาเทคโนโลยีจ่ายไม่ใช้บัตร

นอกจากนี้ การพัฒนาและปรับเปลี่ยนด้านสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแล้ว ปัจจุบันค่ายบัตรเครดิตต่างๆ ยังมีช่องทางและทางเลือกในการใช้บัตรเครดิตชำระเงินได้หลากหลายมากขึ้น โดยที่ให้บริการแล้วคือการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดโดยตัดจากบัตรเครดิตผ่านโมบายแบงกิ้งหรือแอพพลิเคชั่นของผู้ออกบัตร โดยไม่ต้องหยิบบัตรขึ้นมารูด หรือแตะ มีร้านค้าที่รับชำระ อาทิ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ซับเวย์แซนด์วิช แท็กซี่ ห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์ เป็นต้น รวมทั้งร้านค้าอื่นที่สามารถรับชำระด้วยคิวอาร์โค้ดได้ รวมทั้ง กสิกรไทย เคทีซี ได้เริ่มให้บริการระบบการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตแบบไร้สัมผัส ฟิตบิท เพย์ (Fitbit Pay) ที่อยู่ในสมาร์ทวอช ฟิตบิท สามารถชำระเงินได้ง่ายๆ เพียงแค่แตะสมาร์ทวอชฟิตบิท ไม่ต้องพกบัตรเครดิตไว้กับตัว สะดวกสบาย และปลอดภัย

นอกจากการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสถาบันการเงินที่เปลี่ยนรูปร่างหน้าตามาอยู่บนสมาร์ทโฟน มีแรงกดดันค่าธรรมเนียมที่ลดลง ในส่วนธุรกิจบัตรเครดิตยังต้องติดตามว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด เพราะทุกค่ายสามารถนำเสนอสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการได้เหมือนๆ กัน

ต้องติดตามหลังจากนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจบัตรเครดิตไปในทิศทางใดอีกบ้าง! ท้ายที่สุดแล้วแบงก์ไหนจะตอบโจทย์และครองใจลูกค้าในระยะยาว

ทีมข่าวเศรษฐกิจ