เลขาธิการพระปกเกล้าชี้ให้สภายื่นทรัพย์สิน ทำมหา’ลัยเสียโอกาส

จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกประกาศเรื่องกำหนดตำแหน่งผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้กรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสทั้งที่จดทะเบียนและมิได้จดทะเบียน และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคล ทำให้เกิดการคัดค้านจากมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวางนั้น

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า ได้พูดคุย และแจ้งกรรมการสภาว่าอยู่ในข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินด้วย ซึ่งทุกคนรับทราบ และรอดูท่าทีรัฐบาล และ ป.ป.ช.ทั้งนี้ โดยอำนาจของกรรมการสภา ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ แต่พอไปตีความอย่างเคร่งครัด จึงเข้าข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศของ ป.ป.ช.ไปด้วย อย่างไรก็ตาม การยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่กำหนดว่ายื่นแล้วต้องประกาศต่อสาธารณะ จึงอาจทำให้ทุกคนกังวล โดยเฉพาะภาคเอกชน ที่คงไม่ค่อยสบายใจนัก อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากให้มองเรื่องนี้อย่างเป็นธรรม ขณะนี้สังคมมองว่าไม่อยากยื่นบัญชีทรัพย์สินเพราะมีเรื่องปกปิด ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นเรื่องของความเหมาะสม และคุ้มค่า ทำให้มหาวิทยาลัยเสียโอกาส

“วันนี้ใครที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้มากเกินไป จะถูกกล่าวหาว่าไม่โปร่งใส กลัว และมีเรื่องปกปิด ซึ่งความจริงแล้วโจทย์มันไม่ใช่ ป.ป.ช.ต้องไปหาทางแก้ไขที่เหมาะสม การยืดระยะเวลาการบังคับใช้ อาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เพราะปัญหาขณะนี้เป็นเรื่องควร หรือไม่ควร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณา วิธีป้องกันการทุจริตสามารถทำได้หลายแนวทาง ไม่ใช่ว่าจะต้องมาใช้วิธีการจับผิดเพียงอย่างเดียว” ศ.วุฒิสาร กล่าว

 

ขอบคุณภาพจาก  สภาปฎิรูปแห่งชาติ