การบินไทย ไตรมาส 3 ขาดทุนพุ่ง! 3,686 ล้าน เหตุภัยธรรมชาติ ราคาน้ำมันเพิ่ม

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา บริษัทมีความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ดังนี้

• ได้ปลดประจำการเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-400 จำนวน 2 ลำ ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อย มีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงาน (วันที่ 30 ก.ย. 61) 103 ลำ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 4 ลำ
• มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (Aircraft Utilization) เท่ากับ 12.1 ชั่วโมง เท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน
• มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 2.0% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 1.0%
• มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.5% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 78.2%
• มีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6.0 ล้านคน ใกล้เคียงกับปีก่อน

ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้จากการดำเนินงานรวมจำนวน 47,953 ล้านบาท มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 1,025 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.2% โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

• รายได้จากค่าโดยสาร และน้ำหนักส่วนเกิน เพิ่มขึ้น 304 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.8% จากปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น
• รายได้จากค่าระวางขนส่ง และไปรษณียภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 561 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.9%
• รายได้จากการให้บริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 360 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.3%

อย่างไรก็ตาม ปกติในไตรมาสที่ 3 เป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว อีกทั้งการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินยังคงรุนแรง ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ความต้องการเดินทางลดลงและต้นทุนเพิ่มขึ้น

อีกทั้งผลกระทบจากภัยธรรมชาติในช่วงเดือน ก.ย. 61 ได้แก่ พายุไต้ฝุ่นเซบี พัดเข้าฝั่งประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ท่าอากาศยานคันไซได้รับความเสียหาย รันเวย์เกิดน้ำท่วมขัง และประกาศปิดการให้บริการเป็นการชั่วคราว แผ่นดินไหวบนเกาะฮอกไกโด และ พายุไต้ฝุ่นมังคุดพัดเข้าฝั่งประเทศฮ่องกง ทำให้บริษัทต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนหนึ่ง ประกอบกับการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน

อีกทั้งในไตรมาสนี้ บริษัท มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยมีค่าใช้จ่ายรวมที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5,259 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.3% ค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 3,499 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 29.4% จากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นถึง 41.0% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ไม่รวมค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น 1,862 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.5%

สาเหตุหลักเกิดจากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน และค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน จำนวน 371 ล้านบาท แต่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 299 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตีมูลค่าทางบัญชี

ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 3,686 ล้านบาท ขาดทุนมากกว่าปีก่อน 1,872 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 3,701 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.70 บาท ขาดทุนมากกว่าปีก่อน 0.86 บาท

ส่งให้บริษัทและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 277,607 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค. 60 จำนวน 3,168 ล้านบาท (1.1%) หนี้สินรวมมีจำนวน 249,219 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 457 ล้านบาท (0.2%) ส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 28,388 ล้านบาท ลดลงจำนวน 3,625 ล้านบาท (11.3%) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลขาดทุนจากการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูองค์กร โดยยังคงมุ่งเน้นการสร้างรายได้เพิ่ม และรายได้เสริม รวมทั้งยังมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง