กสิกรปรับแผนดันรายได้ หลังสัญญาณ NPL พุ่งสูุง

จากรายงานข้อมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (gross NPLs) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า NPL ในไตรมาส 3 ปี”61 ของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.94% หรือ 443,094 ล้านบาท เพิ่มจากไตรมาส 2 ที่อยู่ที่ 2.93% หรือ 441,843 ล้านบาท ส่วนตอนไตรมาส 1 อยู่ที่ 2.92% หรือ 443,492 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าในไตรมาส 3 มีระดับ NPL สูงที่สุดในรอบปี 2561 แล้ว อย่างไรก็ตาม หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) พบว่า NPL ในไตรมาส 3 ปี 2561 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 2.97% หรือ 428,108 ล้านบาท

ส่วน NPL สุทธิ (net NPLs) ในไตรมาส 3 อยู่ที่ 1.43% คิดเป็นมูลค่า NPL คงค้างที่ 211,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ NPL สุทธิอยู่ที่ 1.42% หรือ 210,586 ล้านบาท และไตรมาส 1 ที่ NPL สุทธิอยู่ที่ 1.39% หรือ 208,410 ล้านบาท โดยหากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) พบว่า NPL สุทธิในไตรมาส 3 ปี”61 เพิ่มขึ้นเช่นกันจากไตรมาส 3 ปี”60 อยู่ที่ 1.40% หรือ 198,201 ล้านบาท

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า แผนดำเนินธุรกิจในปี 2562 ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่ออยู่ที่ 5-7% ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่คาดการณ์ขยายตัวอยู่ที่ 4.3% โดยธนาคารได้แบ่งเป็นการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจลูกค้าบรรษัทอยู่ที่ 3-5% สินเชื่อธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 2-4% และสินเชื่อลูกค้าบุคคลเติบโต 9-12% ส่วนอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.3-3.5% ขณะที่ด้านของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปีหน้าจะ “ลดลง” 5-7% และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะอยู่ที่ 3.3-3.7%

“ปี’62 ธนาคารยังคงยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พร้อมตอกย้ำยุทธศาสตร์การเป็น customers” life platform of choice (แพลตฟอร์มหนึ่งเดียวที่ลูกค้าเลือกเพื่อตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิต) ด้วยการใช้ศักยภาพ K PLUS โมบายแบงกิ้งที่มีผู้ใช้งานสูงที่สุด เพื่อเสนอบริการทางการเงินและไลฟ์สไตล์ที่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าแบบรายบุคคล และเดินหน้ายกระดับขีดความสามารถไปอีกขั้นทั้งด้านการเงินและเทคโนโลยีขององค์กรให้สามารถตอบสนองทุกสถานการณ์ รวมทั้งเป็นองค์กรที่ใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานตัดสินใจและขับเคลื่อนธุรกิจ” นายบัณฑูรกล่าว

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กรณีที่ราคาหุ้นของธนาคารกสิกรไทยตก หลังจากมีการประกาศเป้าหมายทางการเงินปี 2562 อาจจะมาจากสาเหตุที่นักลงทุนกังวลตัวเลข NPL ที่ปีหน้าประมาณการไว้ที่ 3.3-3.7% เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดอยู่ที่ 3.3-3.4% เนื่องจากธนาคารต้องการลดต้นทุนการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลงจากปีนี้อยู่ที่ 185 bps ไปสู่ 165 bps ในปีหน้า เพื่อให้แบงก์มีรายได้เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน จะขาย NPL น้อยลง โดยจะเก็บไว้เพื่อบริหารจัดการเอง โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีหลักประกัน เนื่องจากอนาคตราคาสินทรัพย์อาจปรับขึ้น และลูกค้าจะสามารถทำกำไรและมีเงินมาชำระหนี้ได้ ซึ่งแบงก์จะขยายเวลาการชำระให้ลูกหนี้ด้วย จากที่ผ่านมา จะตัดขาย NPL สินเชื่อรายเล็ก เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต เป็นต้น

“การเก็บ NPL ไว้น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า และเป็นการให้เวลากับลูกค้า แทนที่จะขายให้คนอื่นไปติดตาม ซึ่งเมื่อลูกค้ามาชำระมากขึ้น ผลตอบแทนก็จะมากขึ้นตาม” นายปรีดีกล่าว

ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารที่ยังคงลดลงต่อเนื่องในปีหน้า นายปรีดีกล่าวว่า เป็นผลกระทบเรื่องการยกเลิกค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางดิจิทัล และมาตรการควบคุมการขายประกันผ่านช่องทางธนาคาร แต่ในส่วนของรายได้ขายประกันคาดจะกลับมาเป็นบวกได้ในปีหน้า