ขอบคุณข้อมูลจาก | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 27 ตุลาคม ที่สำนักงานใหญ่พรรคอนาคตใหม่ อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ ชั้น 5 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการวางตัวผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ของพรรคว่า วันนี้เป็นวันแรกที่พรรคเปิดให้สมาชิกมาสมัครเป็นผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ พบว่ามีผู้เข้ามาสมัครเป็นจำนวนมาก และเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ไม่ได้มาเพราะอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยยืนยันว่าในสิ้นปีนี้จะดำเนินการให้ได้ผู้สมัครทั้ง 350 เขต
เมื่อถามว่าจะมีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติ “ดี-เด่น-ดัง” เข้ามาที่พรรคหรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ตนจะเป็นคนตัดสินใจว่าใครจะเป็นผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่สร้างขึ้นเพราะต้องการเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเดิมที่คนไม่กี่คนสามารถกำหนดได้ว่าใครจะเป็นผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค เพราะเราต้องการเปลี่ยนให้เป็นสมาชิกพรรคทุกคนสามารถกำหนดได้
เมื่อถามถึงความคืบหน้ากรณีพรรคอนาคตใหม่สอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับข้อห้ามรับเงินบริจาค นายปิยบุตรกล่าวว่า กกต.ไม่ได้ให้คำตอบ แต่เรายืนยันว่าจะเดินหน้ารับเงินบริจาคและขายสินค้าของพรรคต่อไป เพราะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย เนื่องจากข้อห้ามดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะพรรคการเมืองเดิมเท่านั้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกทุกอย่างเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน คสช. ต้องมีโอกาสทำงานอย่างเท่าเทียมกัน
เมื่อถามถึงกรณีรัฐบาลระบุว่าเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” เป็นการทำร้ายประเทศ นายปิยบุตรกล่าวว่า ความมั่นคงของประเทศไม่เท่ากับความมั่นคงของรัฐบาลทหาร เชื่อว่าเนื้อเพลงไม่มีอะไรกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และถ้าเพลงแค่ 5 นาทีส่งผลให้ประเทศล่มสลายหรือขาดความมั่นคง แสดงว่าประเทศนั้นเปราะบางอย่างที่สุด ดังนั้น ถ้าบุคคลในรัฐบาลทหารฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกไม่พอใจ นั่นอาจหมายถึงเพลงนี้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหาร
เมื่อถามถึงการใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มผู้ทำคลิปเพลงแร็พประเทศกูมี นายปิยบุตรกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่พรรคอนาคตใหม่ตั้งใจจะทำคือเข้าไปแก้ไขบรรดากฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพการแสดงออกความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะเจตนารมณ์เดิมของกฎหมายดังกล่าว คือจัดการคนที่แฮ็กข้อมูล คนที่ทำให้ข้อมูลล่ม แต่ทุกวันนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพของประชาชนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ดังนั้น เรื่องนี้เราจะแก้ไขแน่นอน