กางข้อกฎหมายทำได้หรือไม่ ? เจ้าของสุนัข “ตีสุนัขตาย” เหตุเพราะไปกัดเด็ก

เปิดข้อกฎหมายเจ้าของสุนัขตีสุนัขตาย เพราะเหตุไปกัดเด็ก

ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยกรณี ข่าวเรื่องสุนัขกัดเด็กจนบาดเจ็บ พ่อโกรธทุบตีสุนัขอย่างทารุณจนถึงแก่ความตายนั้น โดยพ่ออ้างว่าสุนัขมาทำร้ายกัดลูกนั้น เรื่องนี้ก็มีมุมมองกฎหมาย ที่น่าสนใจดังนี้
ก่อนที่จะมี พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 นั้น สัตว์นั้นเป็นเพียงทรัพย์ของมนุษย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เท่านั้น หากผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ป.อาญา มาตรา 358 ซึ่งถ้าเป็นการกระทำต่อสัตว์ของตนเอง หรือต่อสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ผู้กระทำดังกล่าว ย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

เมื่อมีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ได้รับรองคุ้มครองสัตว์ไม่ให้สัตว์ได้รับการทารุณกรรม โดยคุ้มครองทั้งสัตว์ที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของด้วย ซึ่งกำหนดห้าม มิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 20 ถ้ากระทำฝ่าฝืนดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ก็มีข้อยกเว้น โดยให้ถือว่าการกระทำต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา20 มีอยู่ 11 ข้อ
จากกรณีดังกล่าวซึ่งถ้าพ่อเด็กกล่าวอ้างตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 21 (6) ว่า การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สิน ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์นั้น

ประเด็นดังกล่าวจึงต้องพิจารณาต่อมาประกอบด้วย
1.พ่อเด็กได้ใช้มาตรการ ที่ต่ำสุดในการกระทำเพื่อให้ลูกของตนพ้นจากการที่สุนัขจะกัดหรือไม่ หมายถึง มีวิธีการอื่น ๆ ในการป้องกันไม่ให้สุนัขไปกัดเด็กหรือไม่แทนการฆ่าอย่างทารุณโหดร้าย ถ้ามีก็ไม่สามารถอ้างเหตุได้
2.ให้เปรียบเทียบ ว่าภัยที่เกิดจากสุนัข ไปกัดเด็ก เป็นเหตุให้เจ็บเพียงเล็กน้อยนั้น กับการฆ่าสุนัขอย่างทารุณโหดร้ายนั้น อะไรร้ายแรงกว่ากัน โดยมีองค์ประกอบอื่นที่ต้องพิจารณาร่วม คือ ขนาดของสุนัข สายพันธุ์ ความดุร้าย พฤติการณ์ ประวัติของสุนัขตัวนั้นประกอบ
3. ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์ การฆ่าสุนัขนั้นเกิดขึ้นต่อเนื่องในขณะที่สุนัขกำลังกัดเด็กหรือไม่ ถ้าเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้วหรือสิ้นสุดลง ก็ไม่สามารถอ้างเหตุว่ากระทำด้วยความจำเป็นหรือป้องกันได้
4. ข้อควรพิจารณาสุดท้ายคือพ่อเด็กได้กระทำโดยเจตนา โดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผลคือความตายของสุนัขหรือไม่

แต่ถ้าในทางกลับถ้าสุนัขตัวนี้มีเจ้าของเป็นคนอื่นแล้วไปกัดคน เจ้าของสุนัขจะต้องรับผิด ในฐานการเลี้ยงดูสุนัขแล้วไปสร้างความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น ไปกัดเด็ก เจ้าของต้องรับผิดชอบตาม ป.อาญา มาตรา 377 ถ้าผู้ควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพังในประการที่อาจจะทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่าเจ้าของปราศจากความระมัดระวังทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายไม่มากจะมีโทษตาม มาตรา 390 ฐานประมาทจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บทั้งกายและใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จะผิดตาม ป.อาญา มาตรา 300 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 291 โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ด้วย
และตาม ป.พ.พ. มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ เจ้าของสัตว์จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหาย ให้แก่ฝ่ายที่เสียหายจากสัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงสัตว์นั้น


ดังนั้นองค์ประกอบข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจึงมีส่วนสำคัญในการพิสูจน์ความผิด แม้ปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดถึงเรื่องการทารุณกรรมสัตว์แล้วก็ตาม แต่ก็ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดีเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ก็ยังถือว่าพ่อเด็กยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ มีสิทธิในการต่อสู้คดี ตามกระบวนการยุติธรรม เพราะกฎหมายมีหลักการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา และให้สันนิษฐานว่าตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า เป็นผู้กระทำความผิดถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์