อย.แจง! ร่างพ.ร.บ.ยาไม่สอดไส้เอื้อร้านสะดวกซื้อเปิดร้านขายยา

จากกรณีนายกสภาเภสัชกรรมออกมาเปิดเผยถึงร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. … ฉบับยื่นคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่ไม่เคยตกลงกันไว้ โดยเฉพาะมาตรา 24 (3) และ มาตรา 25 (6) ที่อาจเปิดช่องให้นายทุนสามารถเปิดร้านยาสายพันธุ์ใหม่ หรือร้านยาสะดวกซื้อแบบเดียวกับร้านยา ขย.2 ที่ไม่ต้องมีเภสัชกรประจำร้าน แค่ผ่านการอบรมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรา 117 ให้คลินิกเอกชนทั้งหมดสามารถจ่ายยาโดยไม่ต้องมีเภสัชกร

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม  นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์กรณีดังกล่าว ว่า อย.ยืนยันว่าการร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับดังกล่าว ยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีการหารือร่วมกับนายกสภาเภสัชกรรม ตัวแทนชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย และชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทยแล้ว ซึ่งประเด็นที่ไม่เห็นด้วย 2 ประเด็นนั้น อย.ก็ได้มีการชี้แจง ก็พบว่า เรามีเจตนารมณ์ในการที่จะออกกฎหมายตรงกัน เพียงแต่เป็นเรื่องของเทคนิคการเขียนที่อาจทำให้เข้าใจความเคลื่อนหรือแปลความหมายผิดไป ซึ่งขณะนี้ก็มีการอธิบายให้เข้าใจตรงกันแล้ว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ประเด็นแรก คือ เรื่องของร้านขายยา ขย.2 ที่ไม่ต้องมีเภสัชกรประจำร้าน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,800 ร้าน เราเห็นตรงกันว่า จะไม่มีการเปิดเพิ่ม และจะสิ้นสุดลงเมื่อผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเดิมเสียชีวิตไป ซึ่งมีระบุไว้อยู่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 228 อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับทางอัยการ อาจจะต้องมีการเขียนไว้ในกฎหมายเพื่อรองรับสถานะทางกฎหมายของร้านขายยา ขย.2 ทั้งประเภทยา คือ ม.24 (3) และผู้รับใบอนุญาต คือ ม.25 (6) ซึ่งเมื่อเขียนแยกกันทำให้อาจเข้าใจผิดได้ว่า จะทำให้มีการเปิดร้านขายยาแบบเดียวกับ ขย.2 เพิ่มอีก แต่ยืนยันว่า จะไม่มีการอนุญาตให้เปิดเพิ่ม เป็นเพียงการเขียนเพื่อให้รองรับสถานะของ ขย. 2 เท่านั้น ซึ่งเบื้องต้นก็หารือว่า อาจจะตัด ม.24 (3) และ ม.25 (6) ไปอยู่ในบทเฉพาะกาลเพ่อให้เข้าใจตรงกัน

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ส่วน ม.117 ที่ตีความว่าคลินิกสามารถจ่ายยาได้โดยไม่ต้องมีเภสัชกรนั้น จริงๆ แล้วเป็นการเขียนยึดตาม ม.22 (5) ที่ให้ 3 วิชาชีพตามเดิมสามารถจ่ายยาได้ คือแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ แต่จากการเขียนดังกล่าวอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นการเปิดกว้างหมายถึงคลินิกประเภทอื่นๆ ในอนาคตหรือไม่ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด ก็เสนอให้เติมว่า ยึดตามมาตรา 22(5) ในท้ายมาตรา 117 เพื่อให้เข้าใจตรงกันและชัดเจนขึ้นด้วย ทั้งนี้ การจะดึงร่างกฎหมายออกมาเพื่อแก้ไข อาจจะทำให้ไม่ทันในการพิจารณากฎหมายในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงเสนอว่าจะไปขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า เพื่อคงสถานะของร้านขายยา ขย.2 นั้นการเขียนไว้ในร่างกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ หรือควรไว้ในบทเฉพาะกาล ซึ่งหากจะมีการแก้ไขก็จะไปแก้ไขกันในชั้นนี้ ซึ่งคงต้องขอให้ทางสภาเภสัชกรรมและ 2 ชมรมเภสัชกร ช่วยกันยืนยันว่า เรามีเจตนารมณ์ที่ตรงกัน

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ยืนยันว่าจะไม่มีการเปิดร้านขายยา ขย.2 เพิ่ม ต่อให้มีการอบรมเพิ่มจาก อย.ก็ไม่สามารถเปิดร้านขายยา ขย.2 อีกได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้เปิดได้ อีกทั้งประเภทของยาในร่างกฎหมาย ก็ไม่มีประเภทใดที่จะขายในร้าน ขย.2 ได้เพราะประเภทยา 3 ประเภทคือ ยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร และยาสามัญประจำบ้าน ดังนั้น ในกฎหมายจึงใช้ว่าคำว่า ขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกรหรือยาตามใบสั่งยา ไม่ได้ใช้คำว่ายาบรรจุเสร็จตามกฎหมายฉบับเก่า ดังนั้น ที่มีการกล่าวว่าจะเป็นการเปิดร้านขายยาสะดวกซื้อจึงไม่ใช่เรื่องจริง เพราะตามร้านสะดวกซื้อก็จะขายได้แค่ยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น ส่วนประเด็นร้านขายยาในร้านสะดวกซื้อนั้น ถือว่าเป็นคนละร้านกันมีการแบ่งแยกกันพื้นที่ชัดเจน และต้องมีเภสัชกรประจำร้าน และต้องทำตามเกณฑ์ร้านขายยา มีการกั้นส่วนยาอันตรายต่างๆ ไว้ หากไม่มีเภสัชกรอยู่ร้านก็ต้องปิดส่วนของยาอันตรายไว้ สามารถขายได้แค่ยาสามัญประจำบ้าน