เกิดอะไรในแวดวงเศรษฐกิจรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา? เราสรุปไว้ให้แล้ว

แฟ้มภาพ

แฟ้มข่าว

คาดต่างชาติซื้อบอนด์ไทยพุ่ง

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้าตลาดไทยจำนวนมาก คาดว่าจะเป็นผลมาจากการนำเงินลงทุนออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่เข้ามาลงทุนในไทย เพราะไทยกลายเป็นประเทศปลอดภัย (Safe Haven) เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยขณะที่ช่วง 8 เดือนแรกปี 2561 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และทั้งปีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือครองพันธบัตรไทยเกือบ 9.5 แสนล้านบาท ทั้งในพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งมีโอกาสที่ปีนี้จะมีการถือครองสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทของไทยขณะนี้ กลับมาทรงตัวเท่ากับสิ้นปี 2560 แต่แข็งค่าขึ้นกว่าช่วงต้นๆ ปี ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.50% ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ที่ 2.00-2.25% ซึ่งแม้ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยและสหรัฐจะกว้างมากขึ้น เพราะคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยอีกเป็นครั้งที่ 4 ในเดือนธันวาคมนี้ ขณะที่ไทยมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปี แต่เงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าต่อเนื่อง เพื่อมาเก็งกำไรผลตอบแทน (ยิลด์) ผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยน และจากส่วนต่างยิลด์เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อต่ำ

กนง.มั่นใจเศรษฐกิจโตฉลุย

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงินเดือนกันยายน 2561 ว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2561 จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยประเมินว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งปีอยู่ที่ 4.4% และปี 2562 ที่ 4.2% โดยปัจจัยการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 เข้ามารวมในตัวเลขประมาณการจีดีพี สำหรับ 3 ประเด็นสำคัญที่ กนง.ให้ความสำคัญติดตาม คือ ปัจจัยแรก การขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ กนง.มองว่าเศรษฐกิจขยายตัวดีแต่เป็นห่วงนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่จะมีผลต่อการค้าโลกและการส่งออกไทย โดยคาดว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วงปี 2562-2563 และต้องติดตามผลกระทบต่อซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่อง และปัจจัยที่สอง ด้านเสถียรภาพการเงินระบบการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังมีความเสี่ยงบางจุดที่ต้องติดตาม และปัจจัยที่สาม คืออัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว แต่ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงมากนัก

ภาคอสังหาฯ หวังรัฐกระตุ้น ศก.

นายปิติพัฒน์ ปรีดานนท์ ประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 39 เปิดเผยว่า 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบด้วย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย หวังว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าการหาเสียงของหลายพรรคการเมืองจะมีการนำเสนอมาตรการส่งเสริมด้านที่อยู่อาศัยออกมาด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา มีโครงการคอนโดฯ เปิดขายใหม่รวมเกือบ 4.6 หมื่นยูนิต โดยไตรมาส 3 มียอดเปิดใหม่สูงสุดกว่า 2.4 หมื่นยูนิต ซึ่งส่วนใหญ่เปิดตามแนวรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 หมื่นยูนิตในไตรมาส 4 โดยเทรนด์ที่น่าสนใจสำหรับตลาดแนวสูง คือ ผู้ประกอบการเริ่มหันไปหาลูกค้าจากต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะจีน ซึ่งมีความสนใจในโครงการคอนโดฯ ในทำเลต่างๆ โดยเฉพาะย่านช้อปปิ้งของกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อนเวลาที่มาเที่ยว หรือลงทุนปล่อยเช่านักท่องเที่ยวชาวจีนด้วยกัน

ปลื้ม e-GP ประหยัดงบ 7 หมื่นล้าน

น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยผลการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ว่า ปีงบประมาณ 2561 มีการจัดซื้อจัดจ้างวงเงิน 867,051 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณ 938,701 ล้านบาท ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณได้ 71,650 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.63% มีหน่วยงานภาครัฐใช้ระบบ e-GP จำนวน 195,768 ราย และมีผู้ค้ากับภาครัฐลงทะเบียนในระบบ e-GP จำนวน 244,776 ราย สำหรับปีงบฯ 2562 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 กรมจะเริ่มให้หน่วยงานรัฐใช้ระบบ e-GP สำหรับงานจ้างออกแบบและควบคุมงาน และเตรียมพัฒนาระบบให้สามารถเปิดประกวดราคานานาชาติ (international bidding) เป็นต้น

ด้านนางญาณี แสงศรีจันทร์ โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ปีงบฯ 2562 ได้เร่งรัดให้หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่งบอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ผลการเบิกจ่ายในปีงบนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยอมรับว่าปีงบฯ 2561 ต่ำกว่าเป้าหมายมาก เพราะยังมีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจ ไม่คุ้นเคยกับการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ กรมจะเร่งทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ

บาทอ่อนแรงตามภูมิภาค

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันที่ 8 ตุลาคม 2561 ปิดตลาดที่ 32.98 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยสัปดาห์นี้ต้องติดตามการประชุมประจำปีระหว่างองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก ที่กรุงบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าทั้งสององค์กรจะส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นจากเรื่องสงครามการค้าและต้นทุนทางการเงินที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยภาพรวมตลาดการเงินตลอดทั้งสัปดาห์คาดว่าจะแกว่งตัวกว้าง บาทอ่อนค่าแรงตามภูมิภาค โดยการประกาศปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) สหรัฐ เป็นสองปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางของสกุลเงินเอเชียและต้องจับตาตลาดหุ้น

ถ้าตลาดปิดรับความเสี่ยงค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าได้ต่อในช่วงนี้