บขส.ขอโทษ ปชช. ปมตบ ‘ผู้โดยสาร’ จับติวเข้มเสี่ยรถตู้

กรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Mai Nur โพสต์คลิปวิดีโอผู้โดยสารหญิงถูกคนขับรถตู้ หมายเลขข้างรถ ม2/จ/12-103 รถร่วม บขส(จ) 10-2748 กรุงเทพมหานคร สายกรุงเทพฯ-ลพบุรี ตบหน้าอย่างจังโดยไม่มีสาเหตุ บริเวณตรงข้ามห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ภายหลังพบว่าคนขับรถตู้คันดังกล่าวคือนายมานะ นามเงิน อายุ 35 ปี

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยถึงมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว กรณีพนักงานขับรถตู้โดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด เป็นรถร่วมบริการ บขส.ทำร้ายร่างกายผู้โดยสารว่า อำนาจหน้าที่การดำเนินการจะมีอยู่ 3 ขั้นตอนคือ การปรับ พักรถ และบอกเลิกสัญญา ซึ่งคดีที่เกิดขึ้นได้สั่งปรับสูงสุดตามโทษเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท พร้อมสั่งพักรถเป็นเวลา 7 วัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีอาญาจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการตามกฎหมาย

“ทาง บขส.ต้องขอโทษประชาชนที่ทำให้เดือดร้อน สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นได้สั่งปรับสูงสุดตามโทษ และสั่งพักรถ ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการในแง่ของการพิจารณารับเข้าทำงานและพฤติกรรม แต่ไม่ถึงกับสั่งห้ามขับรถตู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ บขส.จะติดตามสถานการณ์ต่อภายหลังได้ลงโทษตามกฎหมาย ไม่ได้ปล่อยปละละเลย” นายจิรศักดิ์กล่าว

นายจิรศักดิ์กล่าวว่า การกำกับดูแลภายใต้ บขส.ในปีที่ผ่านมาได้จัดโครงการอบรมพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะเชิงปฏิบัติการหรือการเทรนนิ่งพนักงาน ทั้งในด้านพฤติกรรม จิตสำนึกและการให้ความรู้ในด้านที่เกี่ยวข้อง ผลที่ได้จากการเทรนนิ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทางสถาบันขับรถจะทยอยทำโครงการกับรถร่วมบริการ คาดว่าจะใช้เวลาร่างหลักสูตรเทรนนิ่งประมาณ 6 เดือน ก่อนจะเปิดอบรมต่อเนื่องในปี 2562 วางเป้าหมายไว้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาระยะยาวได้ โดยเฉพาะพฤติกรรมคนขับและการให้บริการที่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด

“เดิมมีโครงการที่จะเทรนนิ่งผู้ประกอบการรถบัสอยู่แล้ว แต่จากความจำเป็นเร่งด่วน จะเพิ่มการอบรมผู้ประกอบการรถตู้ด้วย โดยคาดว่าจะใช้เวลาร่างหลักสูตรเทรนนิ่งประมาณ 6 เดือน และเปิดอบรมได้ในปีหน้า อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการดำเนินการระยะยาว เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร นอกจากการอบรมพนักงาน การดูแลสภาพรถและถนนหนทางแล้ว ทาง บขส.มีแนวคิดว่าผู้ประกอบการควรจะรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์หรือนิติบุคคล เพื่อประโยชน์ในการทำประกันกลุ่ม จากเดิมที่วินรถตู้อาจจะติดปัญหาเรื่องทุนประกันไม่เพียงพอ รวมถึงการดูแลหรือการจัดระเบียบจะง่ายกว่าด้วย” นายจิรศักดิ์กล่าว

นายจิรศักดิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการรวมเป็นนิติบุคคล จะขึ้นอยู่กับตัวผู้ประกอบการ บขส.ไม่มีอำนาจในการสั่งบังคับ เพียงแต่เสนอแนวทางในการรวมกลุ่มจากปัจจุบันที่มักจะเป็นวินเดี่ยว ก่อนจะเปลี่ยนไปใช้มินิบัสแทนรถตู้สาธารณะตามนโยบายของรัฐบาล