พันธมิตร แนวร่วม ต้าน คสช. เพื่อไทย ไปยัง ‘ประชาชาติ’

ไม่ว่าการเกิดขึ้นของพรรคประชาชาติ ไม่ว่าการเกิดขึ้นของพรรคเพื่อธรรม ไม่ว่าการเกิดขึ้นของพรรคเพื่อชาติ

สะท้อน “กลยุทธ์” เด่นชัดทางการเมือง

หากมองจากการต่อสู้ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ประสานกับการต่อสู้ก่อนรัฐประหารเมือเดือนพฤษภาคม 2557

นี่คือ อุบัติแห่ง “นอมินี” ทางการเมือง

แต่หากมองจากข้อกำหนด กฎกติกา อันดำรงอยู่ภายในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นี่คือ การปรับประสานให้เข้ากับกรอบแห่งโครงสร้างการเลือกตั้งแบบบัตร 1 ใบ

เสมอเป็นเพียงการก่อรูปของ “พันธมิตร” ในแนวร่วมทางการ เมืองอันสลับซับซ้อน

 

มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นอน ระหว่างคนของพรรคเพื่อไทยกับคนของพรรคเพื่อธรรม กับคนของพรรคเพื่อชาติ และกับคนของพรรคประชาชาติ

เพราะนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็ร่วมกันมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย กระทั่งพรรคเพื่อไทย

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ก็เคยร่วมรัฐบาลไทยรักไทย

ยิ่งนายยงยุทธ ติยะไพรัช นายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งเป็นกองเชียร์พรรคเพื่อชาติ ก็เคยมีบทบาทอย่างสูงจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

เมื่อสถานการณ์จาก “รัฐธรรมนูญ” บีบกดก็มีความจำเป็นต้องแยกวงกันออกไปจัดตั้งพรรค

เพื่อสร้างกลุ่มค่ายในทางการเมืองขึ้นมา

เรียกตามกลยุทธ์ทางการทหารคือ “แยกกันเดิน” และเมื่อโอกาสเหมาะสมก็ย่อมจะหวนกลับ “มารวมกัน” ใหม่ตามความเหมาะสมของสถานการณ์

 

ไม่ว่านักการทหาร ไม่ว่านักการเมือง จำเป็นต้องกำหนดการต่อสู้ให้สอดรับกับสมรภูมิ

รบในที่ราบก็อย่างหนึ่ง รบในป่าก็อย่างหนึ่ง

การเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นการรบที่เด่นชัดว่า คสช.ต้องการสืบทอดอำนาจและใช้บทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญ” มาเป็นเครื่องมือสำคัญ

การปรับตัวให้เหมาะสมกับกฎ กติกา จึงมีความสำคัญ

เมื่อเป็นการเมืองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพทางการเมือง