สรุปข่าวต่างประเทศ : IMF ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจโลก / ให้โนเบลนักวิจัยคิดวิธีรักษามะร็งแบบใหม่ / คืบหน้าสึนามิถล่มอินโดนีเซีย

อินโดนีเซีย

บาหลี – สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่รายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด โดยปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และในปี 2562 ลงว่าจะอยู่ที่ 3.7 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.9 เปอร์เซ็นต์ทั้งสองปี ไอเอ็มเอฟระบุถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกว่าเป็นผลจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้ใส่กัน ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนอ่อนแอลง เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและอังกฤษ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ยังเป็นปัจจัยสร้างแรงกดดันให้กับตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่อีกด้วยจากการที่เงินทุนถูกดึงกลับไปในสหรัฐอเมริกา

ไอเอ็มเอฟยังระบุถึงเศรษฐกิจในรายประเทศ โดยได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐลงเหลือ 2.5 เปอร์เซ็นต์จากเดิม 2.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีหน้าถูกปรับลดการคาดการณ์ลงเช่นกันเหลือ 6.2 เปอร์เซ็นต์จากเดิม 6.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียยังแข็งแกร่ง โดยคาดว่าอินเดียจะขยายตัวที่ 7.3 และ 7.4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ ส่วน 5 ชาติในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและไทย คาดว่าปีนี้จะขยายตัว 5.3 เปอร์เซ็นต์เช่นเดิม แต่ปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวลดลงอยู่ที่ 5.2 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นผลจากสงครามการค้า


สวีเดน

สตอกโฮล์ม – สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศผลผู้ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติสำหรับผลงานวิจัยที่โดดเด่นหรือสร้างประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติในสาขาต่างๆ ประจำปีนี้ เริ่มจากสาขาแรก เป็นรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ที่เป็นการครองรางวัลร่วมกันของนายเจมส์ พี. อัลลิสัน ชาวอเมริกัน และนายทาสุกะ ฮอนโจ ชาวญี่ปุ่น จากผลงานวิจัยเกี่ยวกับวิธีรักษามะเร็งแบบใหม่ รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เป็นของ 3 นักฟิสิกส์ โดยรางวัลนี้ครึ่งหนึ่งมอบให้ศาสตราจารย์อาร์เธอร์ แอชกิน นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันในฐานะผู้คิดค้น “ออพติคอล ทวีซเซอร์” ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติการประยุกต์ใช้ลำแสงเลเซอร์ด้านการแพทย์และอุตสาหกรรม ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมอบให้ศาสตราจารย์เจราด์ มูรู ชาวฝรั่งเศส และ ดร.ดอนนา สติคแลนด์ ชาวแคนดา ที่ร่วมกันพัฒนาเลเซอร์ที่มีความเข้มข้นสูง รางวัลโนเบลสาขาเคมี เป็นของ 3 นักวิทยาศาสตร์ ได้แก่ นางฟรานเซส เอช.อาร์โนลด์ และนายจอร์จ พี.สมิธ ชาวอเมริกัน และเซอร์เกรกอรี พี.วินเทอร์ ชาวอังกฤษ โดยนางอาร์โนลด์ได้รับรางวัลจากการวิจัยเรื่องการกำกับวิวัฒนาการของเอ็นไซม์ ส่วนนายสมิธพัฒนาวิธีการที่เรียกว่า “เฟจ ดิสเพลย์” และนายวินเทอร์ เป็นการนำเอาวิธีเฟจ ดิสเพลย์ มาใช้ในการกำกับวิวัฒนาการของแอนตี้บอดี้ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นการครองรางวัลร่วมของนายเดนิส มูเควเก นรีแพทย์ชาวดีอาร์คองโก ที่ให้การรักษาเหยื่อผู้ประสบความรุนแรงทางเพศ และนางสาวนาเดีย มูราด นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวเผ่ายาซิดีในอิรักที่เป็นผู้รอดชีวิตจากการตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศของกลุ่มติดอาวุธกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) และสุดท้ายรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ นายวิลเลียม นอร์ดเฮาส์ และนายพอล โรเมอร์ สองนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันคว้าไปครองร่วมกันจากผลงานการสร้างโมเดล “การเติบโตสีเขียว” ซึ่งแสดงให้เห็นว่านวัตกรรมและสภาพอากาศสามารถนำมาบูรณากันในการพัฒนาเศรษฐกิจโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร อย่างไรก็ดี ในปีนี้ไม่มีการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมแต่อย่างใด

อินโดนีเซีย

ปาลู – สำนักข่าวรอยเตอร์สและเอเอฟพีรายงานความคืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซียว่า รายงานยืนยันผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนี้ที่เกิดขึ้นเมื่อ 28 กันยายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,010 รายแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองปาลู หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และยังคงมีรายงานผู้สูญหายอีกมากถึงราว 5,000 คน ส่วนใหญ่ถูกฝังอยู่ใต้โคลนไหลที่เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว ขณะที่ทีมกู้ภัยกว่า 1,000 คน ยังคงเร่งมือค้นหาเหยื่อแผ่นดินไหวและสึนามิที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคารและใต้ดินโคลนในพื้นที่ประสบภัยให้ได้มากที่สุด ก่อนที่ปฏิบัติการค้นหาอย่างเป็นทางการจะประกาศให้ยุติลงในวันที่ 11 ตุลาคม ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้คนจำนวนมากที่ยังไม่พบครอบครัวญาติพี่น้องของตนเองที่ยังสูญหายจากเหตุภัยพิบัติครั้งนี้

ในส่วนของการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ยังคงมีความช่วยเหลือจากนานาชาติเข้ามาสมทบกับทางการอินโดนีเซียในการนำอาหาร น้ำดื่มและสิ่งของจำเป็นเข้าไปช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยที่ยังคงต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ยังยากจะนำความช่วยเหลือเข้าไปให้ได้ทั่วถึง