สอศ.จับมือ 3 สถาบันจัดงานแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์ สนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการสื่อการสอนใหม่ เวิลดิ์ไดแด็ก เอเชีย 2018 และการแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา (วจด.) และสมาคมเวิลด์ไดแด็ก (Worlddidac Association) ร่วมกันดำเนินการจัดการแข่งขัน “Thailand Competition on Robotic and Automation Control using Industry 4.0 Technology” ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2561 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งถือเป็นเวทีประลองฝีมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ของนักศึกษาสายอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา

ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่าสำหรับการจัดการแข่งขันฯ ครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่จะได้พัฒนาองค์ความรู้ เน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพ ระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาให้นักเรียน นักศึกษา ได้คิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ผลงาน นวัตกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการเรียน การสอนตามแนวทางการบูรณาการความรู้ STEM Education นำไปประยุกต์ใช้ในงานอาชีพ สามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่เกิดจากการสร้าง นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ และระบบควบคุมแบบอัตโนมัติ สาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ทั้งด้านการฝึกทักษะ การควบคุมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์เชื่อมในระบบอุตสาหกรรม การออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ตลอดจนเทคนิควิธีการใช้งานเครื่องมือ เครื่องจักร หุ่นยนต์ที่ใช้ระบบการควบคุมการสั่งการด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติงานจริง และเกิดประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0

ดร.สุเทพ กล่าวต่อว่า คณะดำเนินงาน การจัดการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี อุตสาหกรรม 4.0 ในงานแสดงสื่อเทคโนโลยีนานาชาติ ด้านการศึกษาชั้นนำของเอเชีย และการประชุมผู้นำทางวิชาการ ซึ่งการแข่งขันมีทั้งหมด 3 ประเภท คือ 1.การแข่งขันควบคุมระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม 4.0 (Competition on Automation Control Technology for Industry 4.0) มีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 54 ทีม 2.การแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์แขนกลในงานเชื่อมอุตสาหกรรม 4.0 (Competition on Industrial Robot Control for Industry 4.0) มีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 60 ทีม และ3.การแข่งขันออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 4.0 (Competition on Robotic Automotive Manufacturing Techniques in Industry 4.0) มีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 25 ทีม ทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้ง 3 ประเภท จำนวน 139 ทีม

“จึงเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ การฝึกทักษะการควบคุมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์เชื่อมในงานอุตสาหกรรม การออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ และเป็นการตอบโจทย์ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการนำไปใช้งานจริง และเพื่อให้ความร่วมมือเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกิจกรรมการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังแรงงานให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาทักษะขั้นสูงในการฝึกปฏิบัติการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ 4.0
ทั้งนี้ พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. ได้มอบทุนการศึกษาแก่ทีมชนะเลิศประเภทที่ 1, 2, 3 รางวัลละ 50,000 บาท รศ.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีวจด. มอบทุนการศึกษาแก่ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทที่ 1, 2, 3 รางวัลละ 30,000 บาท ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. มอบทุนการศึกษาแก่ทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทที่ 1, 2, 3 รางวัลละ 15,000 บาท และ ดร.สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม มอบทุนการศึกษาแก่ทีมรองชนะเลิศอันดับ 3 ประเภทที่ 1, 2, 3 รางวัลละ 5,000 บาท” ดร.สุเทพ กล่าว