คลังออกกฎหมายจัดระเบียบสินเชื่อห้องแถว-ลีสซิ่ง

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแล โดยแบ่งการกำกับดูแลไว้ 5 ประเภท ใน 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินประเภทให้สินเชื่อ ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และสินเชื่อที่มีการรับสมุดคู่มือจดทะเบียนรถเป็นประกันการชำระหนี้ (สินเชื่อทะเบียนรถ) โดยผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจจากสำนักงาน 2. กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินประเภทที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ได้แก่ การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่ง และการซื้อขายลูกหนี้ทางการค้า(แฟคตอริ่ง) โดยผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะต้องขึ้นทะเบียนในการประกอบธุรกิจกับสำนักงาน

นายพรชัยกล่าวว่า กลุ่มผู้ให้บริการดังกล่าวมียอดธุรกิจรวมกันประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเช่าซื้อ 5 แสนล้านบาท ลีสซิ่ง 2.7 แสนล้านบาท แฟคตอริ่ง 6.7 หมื่นล้านบาท จำนำทะเบียนรถ 2 แสนล้านบาท พิโกไฟแนนซ์ 330 ล้านบาท ที่ผ่านมาใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในการควบคุมดูแล การออกกฎหมายดังกล่าวทำให้มีกฎหมายดูแลผู้ให้บริการทางการเงินแบบ 100% มีกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมาขอใบอนุญาตและขึ้นทะเบียนในวันที่ 361 หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว กลุ่มที่ต้องขอใบอนุญาตหากไม่มาขอใบอนุญาตมีโทษ คือจำคุก 1 ปีปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ ส่วนกลุ่มต้องขึ้นทะเบียนหากไม่ยอมมาขึ้นทะเบียนมีโทษคือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

นายพรชัยกล่าวว่า กฎหมายมี 3 หมวด 74 มาตรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการ การกำกับจะดำเนินการโดยคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

“ที่ผ่านมามีข่าวว่าผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไปกู้เงิน หรือจากผู้ให้บริการทางการเงินทั้ง 5 ประเภท เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานที่เข้าไปควบคุมดูแลเป็นการเฉพาะ ซึ่งกฎหมายออกมาทำให้การดูแลธุรกิจทั้ง 5 ประเภทมีลักษณะคล้ายคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ซึ่งกฎหมายนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบการเงินไทย ดังนั้นจึงคิดว่าผ่านการพิจารณาก่อนเลือกตั้ง”นายพรชัย กล่าว

นายพรชัยกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการทางการเงินบางประเภทซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแต่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแลอย่างชัดเจน ทำให้การประกอบธุรกิจขาดแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานและเป็นธรรม ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินดังกล่าว